หลัง “กองทัพอากาศ” ออกมาเปิดข้อกำหนด 5 ข้อ ของแผนการจัดหาเครื่องบินรบขับไล่โจมตี แบบ F-35 ได้ไม่ทันครบ 24 ชั่วโมง ก็เกิดเหตุระทึก เมื่อเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 ก (F-16A) หมายเลข 10331 สังกัดฝูงบิน 103 กองบิน 1 ประสบอุบัติ ร่วงตก บริเวณพื้นที่ อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ โชคดีที่นักบินสามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินอย่างปลอดภัย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียเครื่องบินไป 1 ลำ
ซึ่งเครื่องบิน F-16 A หมายเลข 10331 ลำดังกล่าว เป็นเครื่องบิน F-16 ADF ที่เคยประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกามาแล้ว 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 และกองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเป็นเครื่องบิน “มือสอง” มาใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน รวมอายุการใช้งานเครื่องบินมากกว่า 40 ปี ชั่วโมงบินรวม 6,009.7 ชั่วโมงบิน ชั่วโมงเครื่องยนต์ 3,588.3 ชั่วโมงบิน แต่ได้รับการเข้าตรวจซ่อมตามระยะเวลาที่กำหนด
ที่สำคัญเครื่องบินลำนี้ได้”ถูกปลด”ประจำการจากฝูงบิน 102 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 แล้ว แต่กองทัพอากาศได้คัดเลือกเครื่องบินที่ยังสามารถบินได้มาใช้ประโยชน์ต่อ โดยนำมารวมกับ F-16 ฝูงบิน 103 กองบิน 1 เปลี่ยนจากหมายเลข 10210 เป็น 10331และมีการซ่อมบำรุงตามวงรอบ เพื่อให้เครื่องบินมีความพร้อมสูงสุดในการปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยของชาติ
โดย ร.อ.ปกรณ์ พิสิทธิ์ศาสตร์ ซึ่งเป็นนักบิน F-16 ลำที่เกิดอุบัติเหตุ มีชั่วโมงบินรวม 782 ชั่วโมงบิน มีตำแหน่งถึง “หัวหน้าหมู่บิน” ได้รับบาดเจ็บที่แขนขวาและคอ ขณะดีดตัวออก เพราะพยายามบังคับให้ตกพื้นที่ห่างไกลชุมชน เขตการเกษตรทุ่งนา เพราะจะทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อประชาชนและชาวบ้านบริเวณดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ดีเยี่ยม ก่อนถูกนำตัวส่ง รพ.กองบิน 1
ขณะที่ “กองทัพอากาศ” ได้ส่ง พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษก ทอ. ออกมาชี้แจงให้เห็นให้เห็นภาพอากาศยานรบของ “ทัพฟ้า” ที่ปัจจุบันเครื่องบินรบส่วนใหญ่ของ ทอ. มีขีดความสามารถจำกัดในการปฏิบัติการทางอากาศ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะเริ่มทยอยปลดประจำการตั้งแต่ ปี2564 -2574
โดยใน พ.ศ. 2575 กองทัพอากาศจะคงเหลือเครื่องบินขับไล่โจมตีต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของกำลังรบทางอากาศลดลง จนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ และยังต้องแบกรับภาระการส่งกำลังและซ่อมบำรุงกับเครื่องบินรบจำนวนมาก ที่มีอายุการใช้งานสูงถึง 28-54 ปี
จึงต้องพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและเพียงพอต่อหน้าที่ในการเตรียมการใช้กำลังทางอากาศ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานภาพงบประมาณของกองทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รองรับแผน ปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย
และเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงเวลาแล้วที่ กองทัพอากาศไทย ต้องเสริมเขี้ยวเล็บทางอากาศ “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. จึงออกมาออกมาระบุ มีแผนจัดหาเครื่องบินโจมตีขับไล่รุ่นใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ที่ล้าสมัย ซ่อมบำรุงยาก และไม่คุ้มค่า รวมถึงไม่ปลอดภัยในการบิน โดยพิจารณาเห็นว่า เครื่องบินขับไล่ แบบ F-35 ของประเทศสหรัฐฯ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ ที่เหมาะกับโลกปัจจุบัน และกองทัพอากาศไทย
จนตกผลึกนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา แล้วมอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รอง ผบ.ทอ. เป็นประธาน และมี “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล เสธ.ทอ. เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี
โดย พล.อ.อ.นภาเดช มองว่าปัจจุบัน F-35 ราคาลดลงจากเดิม จากช่วงที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ราคาเครื่องเปล่า 142 ล้านเหรียญ/เครื่อง เมื่อมีความต้องการและผลิตมากขึ้นทำให้ราคาลดต่ำลง ด้วยกลไกของการตลาดและการเมืองจากการรวมกลุ่มพันธมิตรทำให้ราคาลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญ/เครื่อง ขณะที่เครื่องบิน gripen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญ/เครื่อง ดังนั้น F-35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง อยู่ที่การต่อรองราคากับบริษัทให้ได้ราคาต่ำสุด
และเป็นไปได้ว่าที่ ทอ.ไทยจะซื้อได้ในราคาหลัก 70 ล้านเหรียญฯ ขึ้นไป เพราะตลาดเครื่องบินรบรายอื่นแทบขายไม่ออก โดยคณะกรรมการ ทอ.จะริเริ่มตั้งโครงการในแผนงบประมาณ 2566 ทันที เพราะถ้าไม่รีบทำตอนนี้ราคาอาจจะสูงขึ้น และถ้าในที่สุดมือต้องการจัดหาเข้ามาทดแทนแล้ว สิ่งที่กองทัพอากาศต้องเดินหน้าคือแผนการประชาสัมพันธ์ และต้องตอบให้ชัดทุกประเด็น เพื่อให้สังคมเข้าใจกระจ่างชัดที่สุด
“เพราะเทคโนโลยีด้านการบินเดินหน้าไปเร็วมาก จะเห็นจากสงครามต่างๆ ที่ผ่านมา เป็นการสู้รบในมิติที่ไม่เห็นกันแล้ว จึงต้องเลือกของที่มีคุณภาพสูง F-35 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็ยอมรับในความไม่มี และรับทราบถึงสถานการณ์ โควิด-19” พล.อ.อ.นภาเดช ระบุ
ปัจจุบันเครื่องบินรบ ทอ. เก่าทรุดโทรม และยังมีปัญหาเรื่องส่งกำลังบำรุง โดยเฉพาะอะไหล่ ที่ต้องใช้เวลานานในการจัดหามาทดแทน ซึ่งอนาคตข้างหน้าหากติดขัดและส่งกำลังบำรุงไม่ได้เพราะไม่มีอะไหล่ หรือเครื่องยนต์ บริษัทหยุดสายการผลิตเครื่องบินก็ทำการบินไม่ได้ และเมื่อการโมดิฟายเครื่องเก่าแก่ และเครื่องกลางเก่ากลางใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็ถือว่ายังมีความเสี่ยง จึงมองหาเครื่องบินใหม่ ซึ่งเมื่อมีเงินน้อยก็ต้องเลือกสรรอย่างดีและต้องใช้งานได้นาน เหมือนที่ ทอ.ใช้ F-16 มาถึง 35-40 ปี จนเกิดอุบัติเหตุหลายลำ
กระทั่งเมื่อวันที่ 11 ม.ค.65 ข่าวดี ทอ.ก็มาถึง เมื่อ ครม.ได้อนุมัติกรอบงบประมาณ ของปี 2566 และการผูกพันงบประมาณที่เกิน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเป็นการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีเพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 งบประมาณ 13,800 ล้านบาท จำนวน 4 เครื่องแรก จัดซื้อผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 พร้อม ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คณะกรรมการศึกษาฯ และคณะกรรมการจัดหา เตรียมนำเข้า ครม. ขออนุมัติหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณ
โฆษกกองทัพอากาศ ย้ำด้วยว่า คณะกรรมการศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตี ได้พิจารณาภารกิจตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลและได้กำหนดความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีคุณภาพ (Quality Air Force) และมีเทคโนโลยีล้ำสมัย (Cutting-Edge Technology) มีความคืบหน้าไปมาก
โดยเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ ทอ.ต้องการ ต้องมีขีดความสามารถของการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) มีการบริหารจัดการข้อมูลอัตโนมัติ ร่วมกับระบบตรวจจับของกองทัพไทยและฝ่ายพลเรือนได้อย่างสมบูรณ์ มีขีดความสามารถโจมตี ต่อต้านทางอากาศ ปฏิบัติกิจเฉพาะพิเศษ ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ เพิ่มระยะการปฏิบัติการทางอากาศ และการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 (The 5th Generation Fighter) มีคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ Stealth, Super Cruise, Sensor Fusion, Super Maneuverable และ Synergistic Integrated Avionics
โดยเครื่องบินรบที่ ทอ.ต้องการ จะต้องครบตามข้อกำหนด หรือสเปกใน 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. เป็นเครื่องบินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหาร (Military Standard) มาตรฐานจากองค์กรการบินสากล หรือองค์กรมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
2. เครื่องบิน ระบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้งาน ต้องผลิตโดยใช้มาตรฐานทางทหาร และผ่านการพิสูจน์การใช้งานแล้ว มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วไป
3. สามารถผลิตและนำส่งให้แก่กองทัพอากาศในกรอบงบประมาณและตามห้วงระยะเวลาการจัดหา
4. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่โจมตี และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคลากรของกองทัพอากาศ
5. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
เพราะคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพของกำลังทางอากาศและขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศเป็นสำคัญ เพื่อประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์และรักษาความมั่นคงของชาติ
ซึ่งในภาพรวมกำลังทางอากาศสำคัญอย่างยิ่งในการรบสมัยใหม่ และที่สำคัญจะรบแพ้ไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กำลังทางอากาศแพ้ไม่ได้มีอยู่ 3 ประการ คือ ต้องมีอาวุธต้องที่มีคุณภาพ และต้องไม่ใช่ Second best แต่ต้องเป็น The best ทั้งเครื่องบินและการส่งกำลังบำรุง ไม่เช่นนั้นไม่สามารถไปสู้รบกับใครได้
ปัจจุบันต้องถือว่าเครื่องบิน F-35 มีสมรรถนะดีเลิศ ทอ.ให้ความสนใจกับการปฏิบัติการทางอากาศที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีเต็มฝูง อาจจะเป็นครึ่งฝูง 8 ถึง 12 เครื่อง
ดังนั้นหากกองทัพอากาศไทยได้รับการสนับสนุนจากคนไทยด้วยกัน จากฝ่ายการเมือง และภาคส่วนอื่นๆ ประกอบกับมีงบประมาณเพียงพอ ประเทศไทยก็น่าจะขยับกำลังทางอากาศเข้าสู่ในมิติที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็ง ในฉบับที่ว่า “รบต้องไม่แพ้”
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam