คปภ.ไฟเขียว! บริษัทอาคเนย์ประกันภัย ยุติกิจการได้-ส.ประกันวินาศภัยจ่ายสินไหม-“ลุลา” นักร้องดัง! ติดโควิด

“หมอนิธิพัฒน์” แนะเงื่อนไขก่อนประกาศให้ “โควิด-19” เป็นโรคประจำถิ่น ชี้ควรทำเมื่อมีองค์ประกอบในประเทศครบ เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกภาคส่วนในการกลับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ หรือจนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาป้องกัน เพราะโควิดยังแอบร้ายลึกในการโจมตีปอดของมนุษย์ ด้านหมอธีระวัฒน์ห่วงผลต่อเนื่องหวั่นสูญเสียสิทธิ์การรักษา ส่วนปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้แค่ประกาศเกณฑ์เพื่อทำแผนไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเท่านั้น ศบค.ขอคนไทยอย่าตระหนกโอมิครอน BA.2 และยังเฝ้าระวังคลัสเตอร์ร้านอาหาร ให้ประชาชนช่วยจับตานักท่องเที่ยวระบบเทสต์แอนด์โกที่ทำละเลยมาตรการป้องกันโรค พบเห็นให้แจ้งทางการทันที สมาคมประกันวินาศภัยเผยตัวเลขจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 44,470,000 บาท บอร์ด คปภ.มีมติให้อาคเนย์ประกันภัยเลิกกิจการได้

หลายฝ่ายยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของไทย โดยห่วงว่าอาจจะมีปัญหาและผลต่อเนื่องตามมาหลายประการ

ศบค.ขออย่าตื่นตระหนก BA.2

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงว่า จากความตื่นตระหนกกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำยังไม่มีรายงานชัดเจนที่น่าเป็นห่วง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ติดตามสถานการณ์โลก ติดตามผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างใกล้ชิด แม้จะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในไทยเกิน 14 ราย แต่เบื้องต้นยังไม่พบความแตกต่างทางพันธุ์กรรมจากโอมิครอนเดิม แม้ต่างชาติจะระบุตรวจหาเชื้อดังกล่าวได้ยาก แต่กรมวิทย์ยืนยันว่ายังสามารถตรวจสายพันธุ์ดังกล่าวได้จาก ATK และ RT-PCR เป็นมาตรฐานสาธารณสุขของไทยได้ตามปกติจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและนำมารายงานให้ทราบ

ติดเชื้อใหม่ 8,450 ราย ตาย 28

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 8,450 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย ยอดการฉีดวัคซีนเพิ่ม 465,154 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสม 114,087,421 โดส เป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 สะสมเพียงร้อยละ 19.3 ของจำนวนประชากร จึงอยากเชิญชวนเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ป้องกันโอมิครอน เมื่อดูจากข้อมูลมีถึง 7 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนประชาชนทั่วไปไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน ตาก ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี มี 3 จังหวัดที่ฉีดผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ได้ไม่ถึง 60% ของจำนวนประชากร ได้แก่ ปัตตานี ราชบุรี กาญจนบุรี ศบค.เน้นย้ำประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน หากประชาชนคนไหนไม่สะดวกเดินทางไปฉีดที่สถานที่ฉีดวัคซีนให้แต่ละจังหวัดพิจารณาอำนวยความสะดวกสำหรับการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนด้วย

ยังเฝ้าระวังคลัสเตอร์ร้านอาหาร

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,292 ราย สมุทรปราการ 743 ราย นนทบุรี 499 ราย ชลบุรี 446 ราย ภูเก็ต 379 ราย ปทุมธานี 245 ราย ราชบุรี 239 ราย นครราชสีมา 192 ราย ศรีสะเกษ 182 ราย ลพบุรี 168 ราย ส่วนคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังยังเป็นเหมือนเดิมคือคลัสเตอร์ร้านอาหาร โรงเรียน ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ พิธีกรรมทางศาสนา ในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนาไม่ได้มีการติดเชื้อจากการร่วมพิธีกรรม แต่เป็นการติดเชื้อภายหลังพิธีกรรมที่มีการทานอาหารร่วมกันมีการเล่นการพนัน ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มงวดในการรวมกลุ่มคนด้วย

ห่วงโรงเรียนขอแยกส่วนให้ชัด

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ขณะที่คลัสเตอร์โรงเรียนพบในหลายจังหวัด มีราชบุรี น่าน เพชรบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ หนองคาย ยโสธร เลย ศรีสะเกษ จากการตรวจสอบทุกโรงเรียนเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล บุคลากรในโรงเรียนได้รับการฉีดวัคซีน สาเหตุที่มีการแพร่ระบาดมาจากกิจกรรม เช่น การแข่งกีฬา การปัจฉิมนิเทศที่มีการทานอาหารร่วมกัน จากการวิเคราะห์โรงเรียนแห่งหนึ่งที่ จ.ราชบุรี ที่เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน มีนักเรียน 570 คน อนุญาตให้กลับบ้านช่วงปีใหม่และให้กลับมาเรียนช่วงวันที่ 14-16 ม.ค. ตรวจ ATK ครั้งแรกผลเป็นลบหมด แต่เมื่อตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 23 ม.ค.พบผลเป็นบวก 120 ราย จังหวัดจึงส่งทีมควบคุมโรคแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกมา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 311 ราย รักษาที่โรงพยาบาล 26 ราย รักษาโรงพยาบาลสนาม 285 ราย จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อมาจากกิจกรรมรวมกลุ่ม ศปก. ศบค.อยากให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด จึงต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันโควิดในสถานศึกษาตามที่กำหนดไป อาจให้นำมาตรการสมอลบับเบิลเหมือนที่โรงงานต่างๆแยกการรวมกลุ่มของพนักงานเป็นแผนกๆมาปรับใช้

ตรวจคุณสมบัติเทสต์แอนด์โก

เมื่อถามว่ากรณีนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยผ่านระบบเทสต์แอนด์โก ในวันที่ 1 ก.พ. มีการเตรียมความพร้อมรับอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การลงทะเบียนเทสต์แอนด์โกไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นคนไทยเดินทางกลับบ้านก็ตามจะมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน การประเมินต้องเข้มงวดกระทำโดยกรมควบคุมโรค ตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงแรมที่พัก สถานประกอบการ จะต้องร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบว่ามีการชำระค่าที่พักถูกต้องหรือไม่ โรงแรมดังกล่าวเป็นโรงแรม SHAพลัสหรือไม่แล้วนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาได้

ให้ช่วยจับตานักท่องเที่ยว

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด คือตรวจ RT-PCR ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ต้องทำให้ได้ 100% หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อนักท่องเที่ยวต้องมีประกันคุ้มครองในการรักษาอย่างเบ็ดเสร็จไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขของไทย ขอฝากประชาชนเมื่อเราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ คงต้องฝากให้ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ดูแลสุขภาพของตัวเองคนใกล้ชิดและคนในครอบครัว หากเห็นนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามกฎ ไม่สวมหน้ากากอนามัย สถานบริการทำผิด หละหลวมมาตรการ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ไม่เข้มงวดปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบโควิดฟรีเซตติ้ง ขอให้ประชาชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ

สภามี ส.ส.ติดโควิด 3 ราย

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ติดเชื้อโควิด-19 ว่า จากการสอบถามนายอัครเดช พบว่าอาการไม่รุนแรง ขณะนี้รักษาอยู่ตัวในโรงพยาบาล สำหรับไทม์ไลน์ทราบว่ามีอาการเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ไปตรวจและพบว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 27 ม.ค. วันที่ 26 ม.ค.นายอัครเดชได้ลาการประชุมสภาและ
ไม่ได้เข้ามายังพื้นที่รัฐสภา โอกาสที่นายอัครเดชจะแพร่เชื้อให้กับ ส.ส.มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยรวมถึง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ไม่มีบุคคลใดต้องกักตัว สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของสภา ตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ 2565 พบมี ส.ส.ติดเชื้อ 3 คน คือนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและนายอัครเดช แต่ยังไม่พบการแพร่เชื้อภายในอาคารรัฐสภา สภาต้องคงมาตรการการตรวจคัดกรองและการป้องกันที่เข้มงวดเข้มข้นต่อไป

ทำเนียบผวาม็อบแพร่โควิด

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายก รัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพบตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ตรวจ ATK ผลเป็นบวก 7 คนว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 ทำเนียบรัฐบาล ติดโควิด-19 จากผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนต้องกักตัวผู้ใกล้ชิดจำนวนมาก เพิ่งจะกลับมาทำงานได้ไม่นาน สปน.จึงกำหนดมาตร การเข้มข้นผู้ที่เข้าร่วมประชุม หรือติดต่องานที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ต้องแสดงผลตรวจ ATK หรือฉีดวัคซีน สำหรับกลุ่มพีมูฟ ที่ปักหลักชุมนุมอยู่แยกนางเลิ้ง ถนนพิษณุโลกได้ประสานกรมควบคุมโรคและสาธารณสุข กทม.ตรวจตามขั้นตอนแล้ว ต่อมาเวลา 12.30 น. นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ไปพูดคุยกับ 5 แกนนำแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอมให้ตรวจหาเชื้อ ให้เจ้าหน้าที่คลินิกเวชกรรมที่กลุ่มจัดขึ้นเป็นผู้ตรวจ ATK หากพบผู้ติดเชื้อจะประสานเข้าระบบการรักษาตามขั้นตอน

คุมสถานการณ์ผู้เสียชีวิตได้อยู่

บ่ายวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วประเทศ โดยเฉพาะวันนี้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้น เชื่อว่าจะค่อยๆลดลง ยังยืนยันว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ในจำนวนที่ดียังควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ ส่วนสหรัฐ อเมริกาที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ทั้งที่เชื้อโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรง มีประชากรอีกมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีนวิถีการใช้ชีวิตเขาไม่เหมือนเรา คนไทยให้ความร่วมมือดีโดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้การติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อมาจากการรวมตัวกันปาร์ตี้สังสรรค์ ยอมรับว่ายังมีอยู่ เพราะทุกคนถือว่าฉีดวัคซีนกันแล้ว เรื่องวัคซีนไม่ใช่ปัญหาแต่ขอให้หลีกเลี่ยงการรวมตัวเฮฮาปาร์ตี้ การสังสรรค์ ที่ขณะนี้เป็นคลัสเตอร์หลักจากกิจกรรมเหล่านี้

ประกาศโรคประจำถิ่นต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการดูแลการสอบทีแคสหรือยัง นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองด้วย ATK ก่อนเข้าสอบสามารถดำเนินการได้ เมื่อถามว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดขนาดไหนถึงจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการป่วยหนักการเสียชีวิต การติดเชื้อ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน รวมถึงความร่วมมือที่ได้รับ หากตัวเลขไม่กระโดดขึ้นสูงนัก เชื้อจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง แต่การที่จะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ต้องใช้เวลา ตอนนี้เป็นเพียงเป้าหมายและแนวทาง ทุกคนจะได้วางแผนล่วงหน้าในการประกอบอาชีพ วันที่ 31 ม.ค.วัคซีนเด็กเริ่มฉีด ดังนั้นจำนวนกลุ่มที่แพร่เชื้อก็จะลดลงไปอีก การลดจากการแพร่ระบาดมาเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อทำให้กลไกต่างๆของประเทศขับเคลื่อน ผู้คนจะได้ทำมาหากิน การจ้างงานจะได้เกิดมากขึ้นและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

คุมโควิดได้เป้าหมายตายเป็นศูนย์

เมื่อถามกรณี น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการทำให้ไทยเป็น “COVID Free Country” นายอนุทิน กล่าวว่า หมายถึงประเทศที่ปลอดโควิด หรือควบคุมโควิดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ปลอดได้ต้องด้วยวัคซีน ยา ความร่วมมือของประชาชน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโรคนี้ เพียงแต่โควิดทำอะไรเราไม่ได้ เราพยายามทำให้ไปในทางทิศทางนั้นให้ได้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แต่เป้าหมายคือผู้เสียชีวิตต้องเป็นศูนย์

ยังแค่ประกาศเกณฑ์กำหนด

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะไปสู่โรคประจำถิ่นได้นั้น ขอย้ำว่าเป็นประกาศเกณฑ์เพื่อทำแผนแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 ระยะเวลา 6 เดือน เฟสที่ 2 อีก 6 เดือน หากไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดเข้ามาคิดว่าภายใน 6 เดือนต้องพยายามทำให้ได้ จึงต้องวางแผนว่า ต้องดำเนินการอะไรบ้างทั้งการฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การปรับกฎหมายต่างๆต้องสอดคล้อง การรักษาพยาบาลต้องใช้เวลาเพื่อบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าขณะนี้ประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่เรากำหนดเกณฑ์เพื่อนำไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการทำแผน วันนี้ครบ 2 ปีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรืออีโอซีกระทรวงที่ประชุมครั้งแรกวันที่ 28 ม.ค.63 ประชุมมาแล้ว 411 ครั้ง ดังนั้นอยู่ดีๆ ไม่ใช่มาประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่มีการประชุมดูความรุนแรงของโรคภูมิต้านทานของคนในประเทศ ความสามารถในการรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ องค์ประกอบอื่นๆ การรับรู้ของประชาชน จึงคิดว่าไม่ให้เกินปีที่จะควบคุมบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นได้

รักษาตามสิทธิ์ไม่มีปัญหา

เมื่อถามการปรับเป็นโรคประจำถิ่น การรักษาตามสิทธิ์ยังคงอยู่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่าการรักษาโรคไม่มีปัญหา ไทยมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ว่าเป็นโรคอะไรก็รักษาให้อยู่แล้ว ระบบประกันสังคมระบบราชการ 3 ระบบหลักหากอยู่ในระบบก็รักษาให้อยู่แล้ว ขณะที่คนต่างด้าวไร้สิทธิ์ที่ผ่านมา กระทรวงได้ของบประมาณมารองรับถึง 4 พันล้านบาทเพื่อตรวจรักษาโควิดให้คนต่างด้าวที่ไร้สิทธิ์รัฐบาลก็สนับสนุนดูแลเต็มที่

แนะเงื่อนไขก่อนประกาศ

วันเดียวกัน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า ถึงเรื่องการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ว่า ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเวลาที่เหมาะสมในการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นคือเมื่อไร ส่วนตัวคิดว่าแต่ละประเทศคงต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมกับบริบทภายใน ส่วนบริบทภายนอกต้องพิจารณาจากการเดินทางเข้ามาจากทุกทิศทางและทุกช่องทาง ส่วนการประกาศสถานการณ์โดยรวมขององค์การอนามัยโลกเขาคงต้องทำให้รอบคอบ ในฐานะผู้คุ้มกฎกติกากลางที่เป็นสากล และสามารถนำคำแนะนำขององค์การฯมาใช้ประกอบการพิจารณาเงื่อนไขของบ้านเราเองได้

ต้องมีองค์ประกอบครบ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล โพสต์อีกว่า การจะประกาศได้อย่างมั่นใจ ควรทำเมื่อองค์ประกอบในประเทศมีครบทุกข้อ ดังนี้ 1.ยอดผู้ป่วยรายวันต้องรวมการตรวจทุกประเภทในทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็น ATK ผู้เดินทางเข้าประเทศ ผู้ต้องโทษ หรือการตรวจเชิงรุก เพราะทั้งหมดทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้ป่วย และต้องใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อการดูแลรักษาควบคุมโรค 2. ยอดผู้ป่วยรายวันทั้งประเทศตามข้อ 1. ต้องไม่เกิน 10,000 คน ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน 3. ยอดผู้ป่วยรายวันรายจังหวัดของทุกจังหวัด ต้องลดลงต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน 4. ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง (ใช้ไฮโฟลว์หรือใช้เครื่อง ช่วยหายใจหรือใช้เครื่องพยุงอวัยวะอื่น) ต้องไม่เกิน 1,000 คน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน (คิดเป็น 1.0% ของข้อ 2.) 5. ยอดผู้เสียชีวิต ต้องไม่เกิน 20 คนต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน (คิดเป็น 0.2% ของข้อ 2.) ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนในการพร้อมใจเพื่อกลับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคโควิด-19 ยังมีความร้ายแรงในการโจมตีปอดของมนุษย์แบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

ผลต่อเนื่องโรคประจำถิ่น

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทางการสั่งให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความว่า โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว ไม่ต้องมีการรายงาน ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคนเช่นใช้บัตรทอง ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบ ธุรกิจค่าเสียหาย การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น ปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้จาก สปสช. แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่ โดยที่จนกระทั่งถึงวันที่ 28 ม.ค.2565 มีผู้ยื่นคำร้อง 13,825 ราย เข้าเกณฑ์ 10,544 ราย และมีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาในรายที่เหลือและ
ที่มีอุทธรณ์ ทั้งนี้ ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว 1,205,538,900 บาท และมีเสียชีวิต 20.56%

ส.ประกันวินาศภัยจ่ายสินไหม

วันเดียวกัน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกรณีเสียชีวิตและติดเชื้อโควิด-19 ตามโครงการประกันภัยคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบกลุ่ม สำหรับบุคลาการ ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลถึงวันที่ 25 ม.ค.สมาคมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว 3,947 ราย คิดเป็นเงิน 44,470,000 บาท เป็นบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เสียชีวิตด้วยโควิด-19 รวม 5 ราย เป็นเงินค่าสินไหมทดแทน 5 ล้านบาท ติดเชื้อโควิด-19 ประเภท “เจอ จ่าย จบ” มีบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุขติดเชื้อโควิด-19 รวม 3,947 ราย เป็นเงินค่าสินไหมทดแทนรวม 39,470,000 บาท

ให้อาคเนย์ประกันภัยยุติกิจการได้

วันเดียวกัน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้ประชุมพิจารณาเรื่องบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ขอยกเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน หลังจากได้จ่ายสินไหมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ไปแล้ว 9,900 ล้านบาท ที่ประชุมมีมติให้บริษัท อาคเนย์ ประกันภัย คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนเลิกกิจการ สำหรับข้อเสนอของบริษัทอาคเนย์ฯ ที่ต้องการให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจเข้ามาจัดการหลังจากเลิกประกอบธุรกิจ พร้อมกับคืนเบี้ยประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์นั้น กองทุนประกันวินาศภัยไม่สามารถทำได้เนื่องจากผิดกฎหมาย เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนประกันประกัน วินาศภัยให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้ กรณีบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกันวินาศภัยเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงบริษัทประกันภัยที่ขอคืนใบอนุญาตประกันเอง

โคราชป่วย 8 กลุ่มก้อนใหม่

ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยกลุ่มก้อนอีก 8 คลัสเตอร์ใหม่ คือ 1.คลัสเตอร์งานแต่งงานที่ตลาดโนนตาเถร อ.โนนแดง มีผู้ติดเชื้อ 11 ราย เริ่มจากมีญาติจากกรุงเทพฯ ระยองและ อ.เมืองนครราชสีมา รวม 5 รายที่ติดเชื้อมาร่วมงานแต่งที่ตลาดโนนตาเถร มีการร้องเพลงโดยใช้ไมค์ตัวเดียวกัน ทำให้เชื้อแพร่ระบาด 3 วง 2.คลัสเตอร์ อบต.ทุ่งอรุณ อ.โชคชัย ผู้ติดเชื้อ 11 ราย เป็นกลุ่มเดินทาง กินเลี้ยงสังสรรค์ร่วมกันและกลุ่มร่วมบ้านผู้ป่วย 3.คลัสเตอร์นักเรียนโรงเรียนประทาย อ.ประทาย ผู้ติดเชื้อ 17 ราย เป็นนักเรียน ม.6/2 อายุระหว่าง 11-21 ปี 4.คลัสเตอร์ตลาดนงค์เล็ก หมู่ 5 ต.ตลาด อ.เมืองนครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อ 23 ราย เริ่มจากผู้ป่วยรายแรกเป็นแม่ค้าในตลาด ทำเชื้อกระจายไป 2 วง 5.คลัสเตอร์พนักงานบริษัท ไคชิน อินดัสตรี้ โคราช ผู้ติดเชื้อ 14 ราย 6.คลัสเตอร์งานบวช หมู่ 1 ต.ขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ ผู้ติดเชื้อ 42 ราย 7.คลัสเตอร์ รพ.บ้านเหลื่อม อ.บ้านเหลื่อม พบผู้ป่วย 19 ราย 8. คลัสเตอร์วิทยาลัยอาชีวศึกษากุสุมภ์เทคโนโลยี อ.ปากช่อง ผู้ป่วย 23 ราย เริ่มจากงานเลี้ยงสังสรรค์ในจำนวนนี้มีนักศึกษา ปวช.ติดเชื้อแล้วแพร่ระบาดไปยังเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน

สระแก้วติดเชื้ออีก 53

ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว รายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 53 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 50 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อร่วมบ้านในครอบครัวกับผู้ป่วยยืนยันและคนไทยติดเชื้อมาจากกัมพูชา 3 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 รายเป็นหญิงอายุ 67 ปี ชาว อ.เขาฉกรรจ์ มีโรคประจำตัวหลายโรค อีกรายเป็นชาย อายุ 86 ปี ชาว อ.วัฒนา นคร มีโรคประจำตัวและเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม สำหรับคนไทยที่ติดเชื้อมาจากกัมพูชา เป็นกลุ่มคนที่ทำงานในกัมพูชาและลงทะเบียนกับสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ขอเดินทางกลับไทยทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ รวม 7 คน มี จนท.ตม.ปอยเปต พาเดินเท้าข้ามสะพาน มิตรภาพไทย-กัมพูชา มาส่งให้ จนท.ฝ่ายไทยที่จุดคัดกรอง ด่าน ตม.อรัญประเทศฯ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจร่างกายพบติดเชื้อ 3 ราย

นนทบุรีมีคลัสเตอร์สุเหร่า

ที่ จ.นนทบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แจ้งขอความร่วมมือประชาชนให้เฝ้าระวัง สังเกตอาการของตนเองและเข้าคัดกรองโรคตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK เมื่อพบอาการผิดปกติ เนื่องจากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่โรงเรียนปอเนาะนูรุ้ลอิสลาม (สุเหร่าเขียว) 87 ราย และกลุ่มผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียง 11 ราย รวม 98 ราย ระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. ให้ประชาชนที่เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 17-24 ม.ค. ลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่แท้จริง ตาม QR Code เพื่อเฝ้าระวังและสอบสวนโรคหากพบมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด ให้แจ้งสาธารณสุข รพ.ส.ต.ใกล้บ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

“ลุลา” นักร้องดังติดโควิด

คนบันเทิงติดโควิดเพิ่ม เป็นนักร้องสาวชื่อดัง “ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย” และแจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่อาการไม่รุนแรง มีแค่ไอแห้ง แต่ไม่มีไข้ พักรักษาตัวทานยาตามอาการภายใต้การดูแลของคุณหมอ ได้แจ้งคนที่ใกล้ชิดในช่วง 7 วันที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ต้องขออภัยหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เข็มกระตุ้นยังกัน BA.2 ได้

วันเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษายืนยันว่า การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส มีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ในกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปได้ถึง 95% ป้องกันล้มป่วยรุนแรงได้ถึง 90% แต่เมื่อเวลาผ่านไป 10-14 สัปดาห์ ประสิทธิภาพดังกล่าวจะลดลงเหลือ 75% กระนั้น ถือว่ามีประสิทธิภาพกว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ที่ประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตสำหรับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ประมาณ 60% นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นยังพบว่า วัคซีนเข็มที่ 3 ยังมีประสิทธิภาพในการรับมือกับโอมิครอนสายย่อย BA.2 อยู่ที่ประมาณ 70% หลังฉีดเข็มกระตุ้นผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์