- “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่เข้าทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
- เข้ากระทรวงกลาโหมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีทุกวัน เน้นสั่งการช่วยเหลือสนับสนุนกำลังพลในสถานการณ์น้ำท่วม
- จับตา 30 ก.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยวาระนายกฯ 8 ปี หลายม็อบประกาศเตรียมลงถนน หาก “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีผลพิจารณาเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและหลักฐานเพียงพอให้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงให้ยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ เวลา 15.00 น.
ย้อนดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย สำหรับมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง แบ่งเป็นเสียงข้างมาก 5 ราย เห็นชอบให้รับคำร้อง ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์ ขณะที่ฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง เห็นว่าไม่ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
เน้นปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 24 ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางเข้าปฏิบัติงานภายในทำเนียบรัฐบาล แต่สั่งการและประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และเมื่อศาลมีคำสั่งออกมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้ (24 ส.ค. 2565) เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปตามปกติ ซึ่งในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
วันรุ่งขึ้น (25 ส.ค. 2565) พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ไม่ต้องกังวล กับเรื่องที่เกิดขึ้น จะทำหน้าที่ต่อ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ต่อไป ขณะที่รอคำวินิจฉัยก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ การประชุมสภากลาโหมจะมาประชุม หรือถ้าไม่มาก็สามารถประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ และการลงนามในหนังสือสามารถลงนามได้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงนามในหนังสือทุกวันอยู่ จะเข้ามาทำงานที่กระทรวงกลาโหมหรือไม่ก็ได้ เพราะทำที่ไหนก็ได้ หรือจะเข้าทุกวันก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับงาน ขณะห้องทำงานและห้องประชุมที่กระทรวงกลาโหมมีความพร้อมตลอดเวลาอยู่แล้ว มีทีมงานรองรับการทำงานอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ย้ำว่าไม่ต้องกังวลเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถสั่งการและมอบนโยบายได้ตลอดเวลา
ต่อมาวันที่ 29 ส.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ (Defense & Security 2022) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้พบสื่อมวลชนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งเจ้าตัวยกมือรับไหว้สื่อด้วยสีหน้าเรียบเฉย มีเพียงการตอบกลับสื่อสั้นๆ ว่า “สวัสดี” ขณะในวันที่ 31 ส.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาพบ ซึ่งโฆษกรัฐบาลแจงภายหลังว่ามาหารือข้อราชการ รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน และเรื่องที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้
คืนรถประจำตำแหน่ง-ลงพื้นที่น้ำท่วม 2 จังหวัด
หลังจากนั้นในวันที่ 2 ก.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่รับทราบสถานการณ์น้ำ และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพลกองทัพในการสนับสนุนช่วยเหลือป้องกันรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และในวันเดียวกันนั้นผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล แต่เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีที่กระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ที่ 26 ส.ค. 2565 โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร เป็นยานพาหนะ ส่วนรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทะเบียน 4 กต 29 กรุงเทพมหานคร พร้อมรถในขบวน 3 คัน รวมเป็น 4 คัน พลขับได้นำส่งกลับมาคืนที่กองสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย ทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเสียงวิจารณ์ที่ใช้ทรัพย์สินราชการ และผ่านไปราวครึ่งเดือน (16 ก.ย. 2565) พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่อีกครั้งที่ จ.ระยอง ซึ่งมีสถานการณ์น้ำท่วมหนัก
เอกสารชี้แจงหลุดว่อนโซเชียล ถูกวิจารณ์สนั่น
ช่วงระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยนั้น มีประเด็นที่เกิดเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลังจากมีเอกสารซึ่งอ้างว่าเป็นเอกสารความเห็นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีส่วนหนึ่งระบุว่า ผลของมาตรา 264 ครม. รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับคือวันที่ 6 เม.ย. 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อ ครม. และนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป
อีกทั้งในเอกสาร นายมีชัย ยังได้ชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 2561 ซึ่งปรากฏความเห็นของนายมีชัย และนายสุพจน์ ไข่มุก กรธ. ระบุถึงวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี หรือไม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับรวมก่อนปี 2560 ด้วยว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ. ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ. ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 ก.ย. 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ กรธ. ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ไม่เพียงเอกสารของนายมีชัย แต่ยังมีเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 23 หน้า มีใจความโดยสรุปว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ผู้ร้องไม่อาจนับระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ด้วยเช่นกัน
“การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกฯ ของตนครั้งแรก ขาดตอนจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ไม่อาจนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกฯ ครั้งแรกกับการเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้ ส่วนการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมี ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้นการเป็นนายกฯ หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรกไปแล้ว”
ไม่เข้าทำเนียบฯ สักวัน ตั้งแต่มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นที่น่าสังเกตคือ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกเลย แม้กระทั่งการประชุม ครม. 5 ครั้งที่ผ่านมา ก็ใช้วิธีการเข้าร่วมประชุมแบบคอนเฟอเรนซ์เท่านั้น โดยมี พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็เข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ส่วนวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่กองงานยานพาหนะทำเนียบรัฐบาลเข้ามาตรวจสภาพและสตาร์ตรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรถยนต์ทีมรักษาความปลอดภัยในขบวนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ขณะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ พร้อมเปิดเผยว่า เป็นการอุ่นเครื่องรถยนต์ประจำสัปดาห์เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ติดขัด และตรวจสภาพเครื่องยนต์ไปในตัว หากระบบเครื่องยนต์ขัดข้องจะนำเข้าศูนย์ซ่อมต่อไป แต่เบื้องต้นการเช็กสภาพระบบเครื่องยนต์ยังเป็นปกติ
ท่าทีผ่อนคลาย พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ล่าสุดวันที่ 28 ก.ย. 2565 แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางเข้ากระทรวงกลาโหม เพื่อประชุมสภากลาโหม แต่กลับไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ซึ่งโฆษกกระทรวงกลาโหมก็ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวรัฐประหารอย่างหนักแน่น และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ขณะที่ พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม หรือ ผู้พันเบิร์ด กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และอิริยาบถของ พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีผ่อนคลาย
ทางด้านโฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า ตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ก็ไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาล มีเพียงการประสานกันผ่านกระทรวงกลากลาโหมที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องน้ำท่วม ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการในส่วนของงานของนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันทางด้าน พล.อ.คงชีพ ก็กล่าวยืนยันกับไทยรัฐออนไลน์ด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าปฏิบัติงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กระทรวงกลาโหมทุกวัน มีการลงพื้นที่ 2 ครั้ง คือ การไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ระยอง สำหรับในวันที่มีการประชุม ครม. ก็จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องทำงานกระทรวงฯ ส่วนเรื่องวันที่ 30 ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีท่าทีอะไร ในการประชุมสภากลาโหมก็มีความผ่อนคลาย พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม ยิ่งใกล้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ยิ่งมีให้เห็นมากยิ่งขึ้น กลุ่มม็อบที่จะจัดการชุมนุม อาทิ คณะหลอมรวมประชาชน นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา มีการนัดหมายที่แยกราชประสงค์ เวลา 17.00 น. ส่วนกลุ่มราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็มีการประกาศพร้อมลงถนนหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ โดยมีการนัดหมายจุดชุมนุมที่สกายวอล์กปทุมวัน เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ผลการพิจารณาและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนั้น วันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ เตรียมจับตารับชมรับฟังการแถลงของศาลรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันว่า “บิ๊กตู่” จะได้อยู่ต่อ หวนคืนสู่ทำเนียบรัฐบาล หรือจะต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไป.
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Chonticha Pinijrob