จีน จับมืออาเซียน เปิดตัวแพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการ ในเวทีการประชุม ด้านความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมจีน-อาเซียน (CATTC) ครั้งที่ 9
การประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมจีน-อาเซียน (CATTC) ครั้งที่ 9 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการ ภายใต้หัวข้อหลัก “พัฒนานวัตกรรมเพื่อโอกาส การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต” จัดขึ้นที่นครหนานหนิง ประเทศจีน
ปี 2564 เป็นวันครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน และอาเซียน ซึ่งเป็นปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน
ในด้านความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น นับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็ได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ครอบคลุมสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในจีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน
การประชุม CATTC ครั้งที่ 9 ยังมีส่วนทำให้เกิดผลความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่สำคัญอีกหลายประการ ซึ่งในที่ประชุมยังได้เปิดตัว “แพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีจีน-อาเซียน” และ “เวทีนวัตกรรมสำหรับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน”
ส่วนแพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีจีน-อาเซียนนั้น สามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแม่นยำระหว่างภูมิภาค สาขา และสถาบันทั้งในจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน นับเป็นการเปิดตัว “ท่าเรือข้อมูล” อย่างเป็นทางการของทรัพยากรนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนและอาเซียน
ส่วนเวทีนวัตกรรมสำหรับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน จะเน้นบริการด้านต่าง ๆ สำหรับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอาเซียน เช่นการให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเป็นพื้นที่เจรจาความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ อบรมผู้ประกอบการรายใหม่ และอื่น ๆ
การเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญ ในการให้บริการบุคลากรระหว่างประเทศแบบครบวงจรของจีน สำหรับแลกเปลี่ยนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและผู้มีความสามารถในอาเซียน
เป็นที่ทราบกันว่า ในด้านการสร้างห้องปฏิบัติการร่วมกันนั้น จีนและประเทศที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันริเริ่มการก่อสร้างแพลตฟอร์มห้องปฏิบัติการร่วมระดับชาติแบบทวิภาคีรวม 10 แห่ง
รวมทั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพระหว่างจีน-อินโดนีเซีย และห้องปฏิบัติการร่วมในด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทนระหว่างจีน-ลาว เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งความสัมพันธ์ ความร่วมมือในระยะยาว และมั่นคงระหว่างสถาบันวิจัยของทั้งสองฝ่าย
สำหรับด้านความร่วมมือในเรื่องของอุทยานวิทยาศาสตร์รวมถึงด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนได้ริเริ่มความร่วมมือและการปรึกษาหารือเกี่ยวกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศในอาเซียนหลายประเทศ เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนนโยบายของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเจรจาทางธุรกิจ และการเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนของบุคลากรด้านการจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและทีมงานในการสร้างสรรค์และจัดตั้งกิจการ