ชัชชาติ สั่งเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ300เครื่อง ใช้มา15ปีแล้ว วอนเอกชนอย่างห่วงแต่ฮวงจุ้ย เอาชีวิตรอดก่อน จะได้ดูแลเพื่อนบ้านเราด้วย
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่สถานีคลองสูบน้ำคลองบางซื่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานีสูบน้ำ ร่วมกับนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ว่า มาตรวจระบบระบายน้ำ ปัจจุบันการระบายน้ำ มี 2 ระบบ คือ ระบบคลองกับอุโมงค์ระบายน้ำ รับน้ำ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ครอบคลุมระยะทางใน 20 กม. ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตก แต่ระบบคลองคือหัวใจหลัก จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง โดยการขุดลอกคลอง เพื่อพร่องน้ำ ในการเตรียมพร้อมรับน้ำ โดยเฉพาะหน้าประตูระบายน้ำอาจจะต้องขุดลอกให้ลึก เพื่อให้เป็นแก้มลิง
สำหรับสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้า 17 เครื่อง เพิ่งเปลี่ยนใหม่เพียง 5 เครื่อง เครื่องที่เหลือใช้งานมา 15 ปี ซึ่งหากเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ จะใช้งบจัดซื้อพร้อมติดตั้ง 4 ล้านบาทต่อเครื่อง ซึ่งใช้งบน้อยเมื่อเทียบกับโครงการอุโมงค์ยักษ์ ที่ใช้งบ 5-6 พันล้าน ดังนั้นต้องสำรวจตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกจุด หากไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพต้องเปลี่ยน เพื่อให้เครื่องสูบน้ำทำงานเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดหาแหล่งจ่ายไฟสำรองกรณีไฟดับ เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม กทม.มีสถานีสูบน้ำ 190 สถานี หากต้องเปลี่ยนเครื่องสูบก็ต้องทำ และเครื่องต้องมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ คาดว่าจะต้องเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ กว่า 300 เครื่อง เพราะมีอายุใช้งานเกิน 15 ปี ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลอง ซึ่งคลองบางซื่อไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี มีเพียงบางส่วนที่ขุดลอก ทำให้พร่องน้ำได้ไม่เต็มที่ ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ ส่วนเครื่องเก็บขยะ มี 11ตัว ใช้งานได้ 2 ตัว จึงใช้คนจัดเก็บแทน แต่ก็ต้องจัดหาเครื่องเก็บขยะมาด้วย ในส่วนนี้ได้กำชับให้เร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ภาพรวมเครื่องสูบน้ำกทม.มี733ตัว ชำรุด22ตัว เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ263ตัว ชำรุด63ตัว ประตูระบายน้ำ523ประตู ชำรุด14ประตู ประสิทธิภาพในภาพรวมตามตัวเลขยังพอใช้ได้อยู่ หากปรับปรุง ไม่ได้ใช้เงินเยอะหรือเป็นโครงการขนาดใหญ่ หลังจากนี้จะดูว่างบประมาณปี65 มีเพียงพอหรือไม่ หรือไม่ต้องแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายปี2566
“จะพยามยามใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้เงินน้อยแต่ได้ประโยชน์มากที่สุด อันไหนที่ยังไม่สำคัญ อุโมงค์ก็ชะลอไปก่อน ปรับปรุงประสิทธิภาพของคลองให้ดี เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาได้ จากนั้นจึงจะทำเส้นเลือกฝอย ลอกท่อ ขยายท่อ ทำ Pipe Jacking ที่จำเป็นเพื่อเอาน้ำในซอยลงมาที่คลองให้ได้” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว
นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือว่า ขณะนี้ประมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนขณะนี้ประมาณ900ล้าน ลบ.ม./วินาที ยังไม่ได้รุนแรงมาก ปีที่แล้วที่ท่วมหนัก แถวทรงวาด ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน2,200ล้าน ลบ.ม./วินาที แต่เราสามารถแก้ปัญหาแต่ต้องไม่ประมาท เพราะแนวฟันหลอต่อให้น้ำมาไม่เยอะก็ท่วมได้ จึงต้องเตรียมกระสอบทรายไปเสริม
“ฟันหลอเกิดจากส่วนหนึ่งเอกชนไม่ให้สร้างเขื่อน เอกชนบอกว่ากลัวผิดฮวงจุ้ย ไม่อยากให้ทำ สุดท้ายน้ำมาท่วมทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นต้องฝาก บางทีต้องเสียสละเหมือนกัน อย่างน้อยให้กทม.เรียงกระสอบทรายก่อน ตรงที่เป็นฟันหลอ ตรงถ.ทรงวาด มีอยู่เกือบ200เมตร ช่วงนี้อาจไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามหรือฮวงจุ้ยมาก เอาชีวิตรอดก่อน จะได้ดูแลเพื่อนบ้านเราด้วย” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว