ชาวเกาหลีใต้กว่า 1 แสนคนลงชื่อเรียกร้องให้มีมาตรการลงโทษมากขึ้นกับพวกเกรียนคีย์บอร์ด หลังจากเซเลบชื่อดังที่ตกเป็นเหยื่อไซเบอร์ บูลลี่ ฆ่าตัวตาย 2 รายเมื่อเร็ว ๆ นี้
ประเด็นไซเบอร์ บูลลี่ จุดประเด็นถกเถียงในสังคมเกาหลีใต้ครั้งใหม่ในขณะนี้ หลังจากมีข่าวการเสียชีวิตของนักวอลเลย์บอลชาย และยูทูบเบอร์สาว เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ โดยมีการโพสกระทู้ในในเวบไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดี ที่เรียกว่า บลูเฮาส์ หรือ ชอง วา แด เพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มบทลงโทษหนักขึ้นต่อพวกเกรียนคีย์บอร์ด ที่เผยแพร่ข่าวลือ และแสดงความเห็นเชิงเกลียดชัง โดยจนถึงเช้าวันอังคาร มีผู้เข้าลงชื่อสนับสนุนเกือบ 150,000 คนแล้ว
กระทู้ดังกล่าวถูกโพสหลังจาก โช จัง-มี อินฟลูเอนเซอร์และเกมเมอร์สาว วัย 27 ปี เสียชีวิตภายในบ้านเมื่อวันที่ 5 ก.พ. และก่อนหน้านั้น คิม อิน ฮยอก วัย 28 ปี นักวอลเลย์บอล และผู้เล่นตำแหน่งหัวเสาของทีม Daejeon Samsung Fire Bluefangs ถูกพบศพภายในบ้านพักเมื่อวันที่ 4 ก.พ.และเบื้องต้นเชื่อว่า ทั้งสองคนฆ่าตัวตายหลังเจอกระแสเกลียดชังในโลกออนไลน์
ยูทูบเบอร์สาว ที่รู้จักในชื่อ แจมมี ถูกชาวเน็ตวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับพฤติกรรมเกลียดผู้ชายตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งในอีก 1 ปีถัดมา เธอตัดสินใจหยุดสตรีมมิง และต้องรักษาตัวจากอาการโรคซึมเศร้า
ขณะที่นักวอลเลย์บอลหนุ่มเจอคอมเมนต์แย่ๆ เกี่ยวกับรูปลักษณ์และเพศสภาพมานานเป็น 10 ปี จนต้องออกมาเรียกร้องให้หยุดส่งความเห็นเชิงเกลียดชังถึงเขา และแพร่กระจายข่าวลือว่า เขาเป็นเกย์ หรือ ชอบแต่งหน้า
เขาโพสระบายในอินสตาแกรมเมื่อเดือน ส.ค. 2564 เพื่อยืนยันว่า เขาไม่ได้แต่งหน้าไม่ได้ชอบผู้ชาย และมีแฟนแล้ว รวมทั้งไม่เคยแสดงในคอนเทนต์ AV
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า กรณีการหมิ่นประมาทและการเหยียดหยามในโลกออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากเดิม 13,348 กรณีในปี 2560 เป็น 19,388 กรณีในปี 2563 แต่อัตราการสอบสวนและดำเนินคดีทางอาญากับลดลงจาก 73.1% เป็น 65.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน กำหนดว่า บุคคลที่พูดให้ร้ายผู้อื่นในเครือข่ายข่าวสาร เช่น อินเทอร์เน็ต อาจต้องโทษจำคุกถึง 3 ปี หรือ โทษปรับ 30 ล้านวอน แต่โทษสูงสุดแทบไม่เคยถูกบังคับใช้
ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า แม้ผู้กระทำผิดถูกจับได้ แต่มักได้รับโทษสถานเบา เช่น โทษปรับ เพราะสังคมขาดความตระหนักถึงความรุนแรงของอาชญากรรมดังกล่าว จึงควรเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของสังคม และเพิ่มน้ำหนักของการบังคับใช้กฎหมาย