‘ทองคำ’ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะซื้อได้ง่าย และขายได้คล่อง แถมเก็งกำไรได้ส่วนต่าง ขณะเมื่อทองคำปรับราคาขึ้น จะขายทองคืนอย่างไร? เพื่อไม่ให้ถูกกดราคา ชวนอ่านวิธีการคำนวณราคาทองคำอย่างง่ายๆ
10 เมษายน 2565 – สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดวิธีการคำนวณราคาทองคำ ขายทองคืนอย่างไรไม่ถูกกดราคา และหากร้านรับซื้อในราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จะทำอย่างไรได้บ้าง มีคำตอบ
รู้จักกฎหมายเกี่ยวกับทองคำ
ทั้งนี้ เบื้องต้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายทองคำ ก็คือ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการค้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองที่เป็นธรรม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 เมษายน 2565 ข้อ 3 ระบุไว้ว่า การปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทอง โดย ‘ราคาที่เป็นธรรม’ คือ (ค) ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับราคาจำหน่ายหรือราคารับซื้อคืนทองคำในบริเวณที่เห็นได้ชัดเจน ในอัตราที่กำหนดตามประกาศฯ ไม่ต่ำกว่าราคาที่แสดงไว้บนหน้าร้าน สามารถคำนวณได้จากสูตร ดังต่อไปนี้
- ทองคำแท่ง หนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคาขายทองคำแท่งหนัก 1 บาท หักด้วยจำนวนเงิน 100 บาท
- ทองรูปพรรณ หนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน จะเท่ากับ ราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท หักด้วยค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่เกิน 5% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท นับจากวันที่ทำการซื้อขาย ตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ ทั้งนี้ เฉพาะทองรูปพรรณที่ซื้อไปจากร้านค้าทองที่รับซื้อคืน
ตัวอย่างการคิดคำนวณทองรูปพรรณตามประกาศฯ
หากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง 1 บาท ตามที่สมาคมค้าทองคำประกาศ = 30,000 บาท ดังนั้น 5% ของ 30,000 = 1,500 บาทถ้าเรานำทองรูปพรรณ 1 บาท ไปขาย ต้องได้เงินไม่ต่ำกว่า 30,000 – 1,500 (5% ของ 30,000) = 28,500 บาท
นั่นแปลว่า หากผู้ประกอบการร้านทองรับซื้อทองคำในราคาต่ำกว่าที่ประกาศฯ กำหนด หรือตามตัวอย่างคือ 28,500 บาท ผู้บริโภคก็ไม่ควรขายทอง เพราะเท่ากับเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการร้านทองอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 37 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ทำอย่างไรดี เมื่อเกิดปัญหาซื้อขายทองคำได้ราคาต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด?
- หากผู้บริโภคต้องการขายทองคำคืน ให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ควรทำการซื้อขายร้านเดียวกับร้านที่ซื้อ
- ก่อนทำการขายคืน ผู้บริโภคควรตรวจสอบราคาตลาด สอบถามราคาจากทางร้าน รวมถึงการหักค่าแรงหรือค่ากำเหน็จให้แน่ชัดก่อน (ค่ากำเหน็จ คือ ค่าผลิตทองคำรูปพรรณให้เป็นแบบลวดลายต่าง ๆ รวมทั้ง ค่าการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจร้านทอง ราคาจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผลิตชิ้นงานรูปพรรณนั้น ๆ)
- รวบรวมหลักฐานใช้ในการขายคืน ได้แก่ ใบรับประกันทอง ใบรับรอง หรือสัญญาซื้อขายทองที่ทางร้านออกให้แก่ผู้ซื้อในวันซื้อขาย เพื่อเป็นหลักฐานการยืนยันว่าได้ซื้อจากร้านดังกล่าว และเป็นการแสดงถึงมาตรฐานของทองคำนั้น
- หากผู้บริโภคถูกปฏิเสธถึงสิทธิที่จะได้รับการขายคืนในอัตราที่กำหนดข้างต้น ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายตามที่กฎหมายกำหนด สามารถแจ้งเบาะแส หรือ ร้องเรียน มายังสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ได้
ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค ,สมาคมค้าทองคำ