เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำทางสู่การค้นพบบทละครที่สูญหายของเฟลิกซ์ โลเป เด เวก้า หนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา หอสมุดแห่งชาติสเปน ยืนยันว่าโลเป เด เวก้า นักเขียนคนสำคัญช่วงยุคทองของสเปน ได้เขียนวรรณกรรมเรื่อง ลา ฟรานเชสซ่า ลอรา (La francesa Laura) หรือ “หญิงสาวชาวฝรั่งเศสนามว่าลอรา” ในช่วงไม่กี่ปีก่อนเขาจะเสียชีวิตในปี 1635
การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบายาโดลิด (Valladolid) และมหาลัยเวียนนา (Vienna) ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจสอบความเป็นเจ้าของบทละครจากช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ตั้งแต่ปี 2017
วรรณกรรม “ลา ฟรานเชสซ่า ลอรา” ซึ่งถูกจัดเข้าคลังผลงานนิรนาม 85,000 รายการ เป็นหนึ่งในบทละครยุคทอง 1,300 เรื่อง ที่ได้รับการถอดข้อความด้วยแพลตฟอร์มจำแนกข้อความทรานส์คริบัส (Transkribus)
ต่อจากนั้นโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สไตโล เอไอ (Stylo AI) ได้วิเคราะห์ข้อความที่ผ่านการจำแนก โดยมีการเปรียบเทียบภาษาและสไตล์ของข้อความเหล่านั้นกับผลงานฉบับดิจิทัล 2,800 รายการของนักเขียนยุคบาโรก 350 คน
หอสมุดฯ ระบุว่าหากไม่มีเครื่องมือดิจิทัล การจำแนกบทละครอาจเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นหรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างมาก
อนึ่ง โลเป เด เวก้า นักเขียนคนสำคัญที่สุดลำดับ 2 ของสเปน รองจากมิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) เป็นที่รู้จักจากผลงานการประพันธ์มากมาย ซึ่งประกอบด้วยโคลงซอนเน็ต 3,000 บท และบทละครอีกประมาณ 500 เรื่อง