นางเซียวมารา กัสโตร เด เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัส ประกาศเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.) ว่าจะเริ่มความสัมพันธ์กับจีน
การประกาศเช่นนี้เท่ากับว่าฮอนดูรัสจะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันลง ตามนโยบายจีนเดียว ที่จีนไม่อนุญาตให้ชาติที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับตัวเองไปผูกมิตรกับไต้หวัน เพราะจีนมองว่าไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเทศ ไม่เป็นชาติที่มีเอกราชแต่อย่างใด
ไม่ใช่แค่นั้น การตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างต่างจากที่ตนเคยประกาศเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันไหว
การเคลื่อนไหวนี้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันแสดงความกังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ฮอนดูรัสทบทวนอย่างรอบคอบและไม่ตกไปใน “กับดัก” ของจีน
“ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่จริงใจและพึ่งพาได้ ประเทศของเราช่วยเหลือฮอนดูรัสในการพัฒนาชาติอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด แต่เป้าหมายเดียวของจีนที่ทำกับฮอนดูรัสคือการจำกัดบทบาทบนเวทีนานาชาติของไต้หวันเท่านั้น จีนไม่มีความตั้งใจจริงที่จะให้ความร่วมมือใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนฮอนดูรัสเลย”
หากไม่นับฮอนดูรัสแล้ว ไต้หวันจะเหลือประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ดังนี้
13 ประเทศยังคบไต้หวัน
- กัวเตมาลา
- เซนต์คิตส์และเนวิส
- เซนต์ลูเซีย
- เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
- ตูวาลู
- นครรัฐวาติกัน
- นาอูรู
- เบลีซ
- ปาเลา
- ปารากวัย
- หมู่เกาะมาร์แชลล์
- เอสวาตินี
การประกาศทิ้งความสัมพันธ์กับไต้หวันนี้ยังเกิดขึ้นก่อนการเดินทางเยือน 2 ประเทศในทวีปอเมริกากลางของนางสาวไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ในเดือน เม.ย. ได้แก่ กัวเตมาลา และเบลีซ
นางสาวไช่จะแวะที่สหรัฐ เพื่อพบกับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐคนใหม่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้จีนอย่างมาก
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวระหว่างการประชุมสภาประชาชนจีนเมื่อหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งมีการรับรองให้นายสีเป็นผู้นำประเทศสมัยที่ 3 ว่าจะกดดันอย่างหนักต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน และจะทำทุกวิถีทางเพื่อรวมไต้หวันมาเป็นส่วนหนึ่งอย่างสมบูรณ์ของจีน โดยจะเน้นสันติวิธีก่อน แต่ก็ไม่ทิ้งการใช้กำลังหากจำเป็น