โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีที่ แกงพะแนง ได้รับการจัดอันดับที่ 1 แกง/สตูว์ ที่ได้คะแนนดีที่สุดในโลก รัฐบาลพร้อมร่วมกับทุกภาคส่วน พัฒนา 5F ต่อยอด Soft power ไทย
วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ แกงพะแนง ของไทยได้รับการจัดเป็นอันดับ 1 แกง/สตูว์ ที่ได้คะแนนดีที่สุดในโลก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เว็บไซต์ tasteatlas ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมร้านอาหาร สูตรอาหาร เมนู วัตถุดิบท้องถิ่นจากทั่วโลก รวมถึงรีวิวจากนักวิจารณ์ทั่วโลก ได้ทำการจัดอันดับ แกง/สตูว์ ที่มีคะแนนที่ดีสุดในโลก ซึ่ง แกงพะแนง ของไทย ได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 4.8 พร้อมระบุว่า แกงพะแนงเป็นแกงประเภทหนึ่งของไทยที่มีเนื้อสัมผัสเข้มข้น ใส่ถั่วลิสงที่มีรสเค็มหวาน และใส่เนื้อสัตว์ที่ตุ๋นกับวัตถุดิบอื่นๆ อาทิ พริกแห้ง ใบมะกรูด กะทิ ผักชี ยี่หร่า กระเทียม ตะไคร้ และหอมแดง โดยเนื้อสัตว์ที่ใช้มักจะเป็นเนื้อวัว ไก่ และเป็ด โดยเว็บไซต์ยังอธิบายว่า คำว่า พะแนง แปลว่า กากบาท ซึ่งหมายถึงวิธีการเตรียมไก่แบบโบราณ โดยการไขว้ขาไก่ และตั้งไก่ให้ตรง โดยสูตรแกงพะแนงที่เก่าแก่ที่สุด ถูกพบในตำรากับข้าวของหม่อมซ่มจีน ในปี พ.ศ.2433 (https://www.tasteatlas.com/best-rated-stews-in-the-world)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดอันดับดังกล่าว นอกจาก แกงพะแนง แล้ว แกงของไทยยังติด 50 อันดับแรกหลายรายการ ทั้งแกงมัสมั่น อันดับ 8 แกงส้ม (Thai curry) อันดับ 14 แกงเขียวหวาน อันดับ 17 แกงเหลือง (Yellow curry) อันดับ 33 และแกงเผ็ด (Red curry) อันดับ 35 (https://www.tasteatlas.com/50-best-rated-stews-in-the-world) และสำหรับอาหารประเภทแกง/สตูว์ ที่อยู่ในอันดับ 10 แรก ได้แก่ (1) แกงพะแนง จากไทย (2) แกงกะหรี่ญี่ปุ่น (Kare) (3) หม้อไฟแบบเสฉวนจากจีน (4) สตูว์เนื้อเวียดนาม (โบโก) (5) Shahi Paneer จากอินเดีย (6) Legim จากเฮติ (7) แกงกะหรี่ญี่ปุ่น (Kare raisu) (8) แกงมัสมั่นจากไทย (9) Keema จากอินเดีย และ (10) Hünkar beğendi จากตุรกี
“นายกฯ ยินดีที่อาหารไทยได้รับความนิยม และรับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาหารถือเป็น 1 ใน 5 Soft power วัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ที่รัฐบาลผลักดันส่งเสริม ได้แก่ 1) Food 2) Film 3) Fashion 4) Fighting และ 5) Festival นำมาสร้างสรรค์ผ่านทุกกิจกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจัดอันดับเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนศักยภาพ 5F มาอย่างถูกทาง ทั้งแนวทาง 5F นี้ ยังช่วยต่อยอดสู่ภาคการท่องเที่ยวผ่านเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี” นายอนุชา กล่าว.