“บิ๊กเกรียง” เอกซเรย์พื้นที่เลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร ไร้เงา “เสธ.ต.” พร้อมทหารนับ 100 นาย แทรกซึมบีบ ประชาธิปัตย์หาเสียง ขึงขัง! ห้ามเข้าจุ้นการเมือง

“บิ๊กเกรียง” เอกซเรย์พื้นที่เลือกตั้งซ่อมเขต 1 ชุมพร ไร้เงา “เสธ.ต.” พร้อมทหารนับ 100 นาย แทรกซึมบีบ ปชป.หาเสียง มทภ.4 ขึงขังห้ามเข้าจุ้นการเมืองตามนโยบาย “บิ๊กบี้” “เทพไท” เชื่อสนิทใจใช้โมเดลนครศรีธรรมราชลงพื้นที่ชุมพร มีนายทหารนอกแถวลงพื้นที่เดินกำกับควบคุมซื้อเสียง กดดันผู้นำท้องถิ่น วางมือปืน นักเลงหัวไม้กดดันหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม ล็อกซื้อเสียงโจ่งแจ้งผ่านกลไกรัฐที่เปิดไฟเขียว “บัญญัติ” หวั่นชนวน 8 ปีนายกฯทำบ้านเมืองเดือด เติมเชื้อชุมนุมขับไล่ “บิ๊กตู่” “วิษณุ” ชี้กลางปีการเมืองตื่นเต้นโลดโผน แต่รัฐบาลลากยาวประชุมเอเปกจบ นายกฯเด้งรับทางออกเผือกร้อน ม.112 ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนดำเนินคดี “ปิยบุตร” ตั้งแท่นเขย่าโครงสร้างรัฐไทย ปฏิรูปข้าราชการครั้งใหญ่ รื้อรัฐธรรมนูญยุบทิ้ง ผวจ.-ขรก.ภูมิภาค

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ออกโรงกระตุกกองทัพบกสั่ง “เสธ.ต” และทหารนับ 100 นาย กลับเข้ากรมกอง ห้ามปล่อยยุ่มย่ามช่วยพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร ล่าสุด พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยผลสอบไม่มีอะไรในก่อไผ่ ไร้ทหารกดดันการรณรงค์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

มทภ.4 เผยผลสอบไม่มีทหารกดดัน

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 65 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงกรณี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งตรวจสอบข้อร้องเรียนของนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ ผอ.เลือกตั้งประสานงานส่วนกลางพรรคประชาธิปัตย์ ระบุมีทหารกว่า 100 นายนอกพื้นที่ นำโดย “เสธ.ต.” เข้าไปยังพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.ชุมพร ในลักษณะกดดันการรณรงค์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เรื่องนี้ได้ตรวจสอบในพื้นที่แล้วไม่มีอะไร และรายงานไปทางกองทัพบกเรียบร้อยแล้ว พื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ตนได้สั่งเด็ดขาดห้ามทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมืองตามนโยบาย ผบ.ทบ. จริงๆแล้วก็พรรคพวกกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน ฉะนั้นต้องยืนหยัดยืนยันในความเป็นกลางทางการเมือง ส่วนการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ใน จ.ชุมพรนั้น ทราบว่าจะลงมาในพื้นที่ จ.ชุมพร แต่ยังไม่ได้ลงมา อาจมีคนในพื้นที่ไปพูด ไปบอกอะไร ทางพรรคก็ต้องออกมาปรามก่อน

ปชป.แฉซ้ำใช้อำนาจรัฐซื้อเสียง

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า กรณีนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดโปงมีทหารกลุ่มหนึ่งเข้าไปแทรกแซงและกดดันในพื้นที่การเลือกตั้งซ่อม เขต 1 จ.ชุมพร ส่วนตัวเชื่อน่ามีมูลความจริง เพราะอ้างอิงถึงชื่อนายทหาร “เสธ.ต” และทหารอีก 100 นาย พฤติกรรมเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช เป็นประสบการณ์ตรงในการเลือกตั้ง มีนายทหารนอกแถวบางกลุ่ม ลงพื้นที่เดินกำกับ ควบคุมการซื้อเสียง กดดันผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และมีกลุ่มมือปืน นักเลงบางกลุ่มเข้าไปกดดันหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม มีการซื้อเสียงอย่างโจ่งแจ้ง โดยใช้กลไกรัฐที่มีทั้งทหารและตำรวจ คอยอำนวยความสะดวกการซื้อเสียงอย่างเต็มที่

ชม “บิ๊กบี้” สั่งสอบทหารนอกแถว

นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนกรณี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. มีคำสั่งให้กองทัพภาค 4เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนั้น ต้องขอขอบคุณที่ผบ.ทบ.มีความกระตือรือร้น แก้ปัญหาการเลือกตั้งซ่อมให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและจัดการพวกทหารนอกแถวบางกลุ่ม ที่อิงอำนาจรัฐจะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กองทัพต้องจัดการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการเลือกตั้งซ่อม เพราะหากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่อยากจะร้องเรียนกับ กกต.ในภายหลัง เพราะอาจจะถูกข้อกล่าวหาว่า เป็นพวกขี้แพ้ชวนตีขอให้กองทัพเร่งตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

“บัญญัติ” ชี้การเมืองร้อนแรง ลต.ปี 65

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 ว่า ส่วนตัวให้สมญานามว่า เป็นปีแห่งการเลือกตั้งหรือปีแห่งการเมืองร้อนแรง เพราะสถานการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค.65 มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 3 เขต ที่ จ.ชุมพร จ.สงขลา และ กทม.เขตหลักสี่ ตามด้วยเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา คาดเกิดขึ้นในปีนี้ ภายใต้การเมืองที่ร้อนแรงสุดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปอาจเกิดขึ้นในปี 65 แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อยากอยู่เป็นประธานการประชุมเอเปกหรืออยากอยู่ครบเทอม แต่สถานการณ์การเมืองที่ร้อนสุดๆเห็นทีข้ามปีลำบาก และที่ผ่านมาการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ใช้การเลือกตั้งนอกรูปแบบกันมากขึ้น ใช้ทุน อิทธิฤทธิ์มากขึ้น จนถูกโจษขานใช้เงินใช้ทองอย่างโจ๋งครึ่ม แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับไม่ทุกข์ร้อน การเลือกตั้งในวันข้างหน้าอาจนำไปสู่การคัดค้านว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก เหมือนเคยเกิดขึ้นในปี 2500 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนนำไปสู่การเดินขบวนของนิสิตนักศึกษา เกิดเหตุวิกฤติจนทำให้เกิดการยึดอำนาจ ดังนั้นเรียกร้อง กกต.ทำหน้าที่ของตัวเองให้เข้มแข็ง

ชนวน 8 ปี นายกฯทำบ้านเมืองเดือด

นายบัญญัติกล่าวว่า กกต.ต้องยกเลิกอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ควรจับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ลงไปให้ความรู้วิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นมีโอกาสการเมืองถอยหลังสู่ปี 2500 ส่วนเดือน มี.ค.65 คาดฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ท่ามกลางบ้านเมืองมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจ หากรัฐบาลจัดการไม่ดี ประกอบกับที่นายกฯอยู่นาน ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองที่อยู่นาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยั่วยุให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรงได้แน่นอน ตามด้วยการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว.ที่มีเกินอำนาจพึงมีของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นนี้จะมีคนจุดชนวนขึ้นอีก หลังจากถูกคว่ำไป น่าเสียดายหากเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ที่เป็นหนทางคลี่คลายความอึดอัด ยังเป็นหนทางหนึ่งของการสมานฉันท์ รวมถึงประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกฯ จะเป็นประเด็นใหญ่ที่ร้อนแรงมากที่สุดทั้งในและบนท้องถนนที่มีการชุมนุมขับไล่นายกฯอยู่แล้ว รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญงานจะเข้าด้วย ทั้งนี้ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ให้เป็นนายกฯได้ 8 ปี เพื่อไม่ให้ใครก็ตามที่มีอำนาจนานลืมตัวมัวเมาอำนาจ ใช้อำนาจในทางที่เสียหาย

ห่วงโอมิครอนเติมไฟสุมรัฐบาล

นายบัญญัติกล่าวว่า ประเด็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ถ้าเอาไม่อยู่ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจที่มันมีอยู่แล้ว คนตกงานมากกว่าเดิม คนลำบากยังไม่นับความขัดแย้งในแต่ละที่แต่ละแห่งช่วงชิงระหว่างกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล มักปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ จะไปเติมความเร่าร้อนให้การเมือง ที่คิดว่ารัฐบาลอยู่ครบเทอมก็ไม่แน่จะพ้นปี 65 หรือไม่ เมื่อถามถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายมองว่าการยุบพรรคก้าวไกลที่เข้าข่ายสนับสนุนให้ล้มล้างการปกครอง จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายบัญญัติตอบว่า ตรงนี้เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เป็นตัวเติมความร้อนแรงให้การเมือง เพราะที่ผ่านมาพอเกิดประเด็นแล้ววินิจฉัยชี้ขาด นักการเมืองมีการใช้การตลาดนำการเมือง ใส่สีสันเข้าไปให้ดูตื่นเต้น น่าตกใจ ปล่อยให้ตีความกันเองอยู่เรื่อยๆ เป็นการเติมความร้อนทางการเมืองไม่จบไม่สิ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขยันทำความเข้าใจกับประชาชน บางทีทำให้ผู้คนรำคาญการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยถ้าทำให้คนเบื่อรำคาญ นับไม่เป็นมงคลต่อระบอบประชาธิปไตย

“ชวน” กระทุ้ง รมต.มาตอบกระทู้

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายนิติ บัญญัติในปี 65 ว่า ปีนี้จะมีกฎหมายใหม่เข้ามามากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเรื่องมีปัญหาบ้าง คือการตั้งกระทู้ถาม ได้ย้ำเตือนเมื่อพบฝ่ายบริหารทุกครั้งให้มาตอบกระทู้ของสภาฯ และเมื่อมีการเสนอญัตติฝ่ายรัฐบาลต้องมาชี้แจง เพราะเป็นหน้าที่ หากฝ่ายบริหารไม่ตอบสภาฯ ประชาชนก็ไม่รู้ข้อมูล อย่างน้อยรัฐมนตรีควรเข้ามานั่งฟัง จะได้รู้ว่าเขากล่าวหาอย่างไร และใช้สิทธิชี้แจงเรื่องที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้เมื่อเริ่มการประชุมปี 65 จะนัดประชุมชดเชยวันหยุดช่วงปีใหม่ ประชุมนัดพิเศษวันที่ 14 ม.ค.และ 28 ม.ค.65 รวมถึงการประชุมประจำสัปดาห์ในวันพุธ พฤหัสบดี จะเพิ่มเวลาประชุมอีก 2 ชั่วโมง คาดปี 65 จะพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จได้ เมื่อถามว่า มองว่าสถานการณ์การเมืองปี 65 เป็นอย่างไร เพราะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นพอสมควร นายชวนตอบว่า ในส่วนสภาฯคิดว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันยังคงมีอยู่ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เท่าที่ดูการทำงานเชื่อว่าระบบนี้ยังเดินไปได้ปกติไม่น่ามีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เมื่อถามว่ารัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหรือไม่ นายชวนตอบว่า ส่วนตัวไม่สามารถประเมินฝ่ายบริหารได้

“วิษณุ” เปรยหลัง พ.ค.การเมืองโลดโผน

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานระหว่างรัฐบาลกับสภาฯ ปี 65 ว่า สมัยประชุมนี้สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ.65 แม้มีการอภิปรายรัฐบาลทั่วไปโดยไม่ลงมติ ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นโลดโผน ส่วนสมัยประชุมถัดไปเดือน พ.ค.65 มีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 66 รวมถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อถามว่าเดือน พ.ค.65 เป็นต้นไปเป็นช่วงที่ตื่นเต้นของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ได้พูดว่าเดือน พ.ค. แต่หมายถึงตั้งแต่เดือน พ.ค.-เดือน ก.ย.65 เป็นเวลา 120 วัน เป็นสมัยประชุมที่สามารถมีกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้น เมื่อถามว่า หากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านการพิจารณาช่วงสมัยประชุมเดือน พ.ค.65 ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องยุบสภาฯหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า กระแสเรียกร้องมีแน่ และมีทุกวัน วันนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่ตอบสนองต่อกระแสได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางทีอยากสนองก็สนองไม่ได้ เพราะกฎหมายลูกมีผลบังคับแล้ว ยังมีรายละเอียดให้ต้องทำภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น การแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ ไม่แน่ใจว่าต้องแบ่งภายใน 90 วันหรือไม่ ดังนั้นจะเกิดอะไรก่อน 90 วันนี้คงไม่ได้ และยังไม่พูดถึงการประชุมเอเปกและจี 20 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพอีก

รัฐบาลลากยาวประชุมเอเปกจบ

เมื่อถามย้ำว่าหากกฎหมายลูกไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา นายกฯจะยุบสภาฯได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ยุบได้ แต่ยุบแล้วเกิดปัญหา กติกาต่างๆยังไม่มีอะไรชัดเจน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแม่บทวางเอาไว้ เดิมกำหนดให้ กกต.วางรายละเอียด แต่ได้มีการตัดออกไปก่อน จึงยังไม่มีใครกำหนดได้ ดังนั้นต้องรอกฎหมายลูกเท่านั้น เมื่อถามว่าหากเกิดอุบัติเหตุยุบสภาฯ รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ปัญหาได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออก พ.ร.ก. รัฐบาลกำหนดฝ่ายเดียว สภาฯยอมหรือไม่ที่ให้รัฐบาลฝ่ายเดียววางกติกาเลือกตั้ง หากไม่เห็นด้วยขึ้นมา แต่เลือกตั้งผ่านไปแล้วจะให้ทำอย่างไร หรือหาก พ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วการเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้วก็จะเป็นปัญหา เมื่อถามย้ำว่าที่ระบุถึงการประชุมเอเปก แปลว่ารัฐบาลต้องมีอำนาจเต็มเพื่ออยู่ทำหน้าที่นี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า โดยหลักนานาประเทศคาดหมายอยากประชุมและเจรจาตกลงกับรัฐบาลที่อำนาจเต็ม เมื่อถามว่านายกฯ ควรมีอำนาจเต็มอยู่ถึงการเป็นประธานเอเปกภายในปลายปี 65 ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า สื่อมวลชนพูดเองและใครๆก็รู้ว่าควรเป็นอย่างไร

“สมศักดิ์” มั่นใจ “บิ๊กตู่” นำทัพฝ่าวิกฤติ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มองการเมืองในปี 65 ว่า รัฐบาลเหลือวาระ 1 ปีพอดี แม้รัฐบาลทำดีแค่ไหน แต่ปีสุดท้ายของทุกยุคทุกสมัยก็เป็นแบบนี้อยู่เสมอ โดยพรรคการเมืองต่างๆไม่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็เร่งรัดการหาเสียงเพื่อให้เป็นที่นิยม แต่ละพรรคมักพูดแต่เรื่องของตัวเอง ยกตนข่มท่าน เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองปีสุดท้าย ส่วนรัฐบาล แม้ช่วงที่ผ่านมาประสบกับวิกฤติโควิด-19 จนส่งผลต่อปัญหาปากท้องของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ไขและช่วยเหลือประชาชน พัฒนาประเทศในหลายๆด้าน เชื่อว่าเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคน รัฐมนตรีทุกคนทำงานอย่างหนัก ภายใต้การกำกับดูแลของนายกฯ ยืนยันทุกคนมุ่งมั่นทำงาน เชื่อรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลยังแข็งแรงและทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน มั่นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นแกนหลักสำคัญที่พาประเทศฝ่าวิกฤติ และเดินหน้าทำงานหนักเพื่อประชาชนต่อไป

“ธนกร” ย้ำรัฐบาลอยู่ครบเทอมชัวร์

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับทิศทางการทำงานของรัฐบาลในปี 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังคงทุ่มเททำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต่อยอดนโยบายรัฐบาล แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจโลกและโควิด-19 แต่ด้วยความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน ทำให้ผ่านวิกฤติมาได้อย่างมั่นคง จนนานาชาติให้การยอมรับ ดังนั้นในปี 65 นายกฯยังคงทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อประชาชน เดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อพลิกโฉมประเทศในทุกด้าน โดยไม่สนเกมการเมืองใดๆ ขอมุ่งทำงานอย่างเดียว ตนเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานของนายกฯ และความเข้าใจอันดีต่อกันในพรรคร่วมรัฐบาล จะนำพาประเทศผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้อย่างมั่นคง ส่งผลให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนได้ครบเทอม จนได้รับการยอมรับรวมถึงความไว้วางใจจากประชาชนต่อไป

“สุวัจน์” ลั่น ชพน.คัมแบ็กที่มั่นโคราช

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค ชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมเลือกตั้งครั้งหน้าว่า เมื่อรัฐบาลเข้าสู่ปีที่ 4 ทุกพรรคเริ่มเตรียมการเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องมีความพร้อม เพราะไม่รู้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราไม่ประมาท เตรียมความพร้อมไว้ก่อน เริ่มทำนโยบายต่างๆแล้ว เมื่อถามว่า หลายพรรค การเมืองพุ่งเป้าปักหลัก จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ตอบว่า ทุกพรรคให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีฐานการเมืองใหญ่ มี ส.ส.จำนวนมาก รวมทั้งการเลือกตั้งครั้งต่อไป จ.นครราชสีมามีจำนวน ส.ส.เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นพื้นที่หมายปองของทุกพรรคการเมือง พรรคชาติพัฒนาได้เตรียมความพร้อม เพราะต้องรักษาฐานเสียงเอาไว้ จ.นครราชสีมาถือเป็นบ้านเกิดของพรรคชาติพัฒนา ต้องทำงานการเมืองให้มีฐานที่มั่นคงขึ้น มีการเตรียมการ โดยเฉพาะนโยบายและตัวผู้สมัครที่ต้องนำผู้สมัครเก่ากลับมา ภาพรวมอยากทำให้เป็นพรรคที่ได้ ส.ส.เลขสองหลัก เมื่อถามว่า จะเป็นคนชูธงของพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายสุวัจน์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง

นายกฯเด้งรับทางออกคดี 112

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า วันนี้มีความคืบหน้าทางออกที่ได้เสนอ ไว้ตอนที่ดีเบต มาตรา 112 กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระหว่างดีเบตตนย้ำหลายรอบถึงทางออกตลอดว่าสถานการณ์อย่างนี้ ม.112 ไม่ควรแก้ไขอย่างยิ่ง โดยมีวิธีทำให้ชัดเจนได้ว่า กรณีใดเข้าข่ายผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย ที่เคยปฏิบัติกันมาแล้วด้วย คือการตั้งกรรมการกลั่นกรองคดี ม.112 ถ้ากรณีไหนมีแนวปฏิบัติว่าไม่เข้าข่ายก็ปล่อยเลย อันไหนชัดเจนว่าเข้าข่ายก็ดำเนินคดีไป ตนทำทันทีในวันที่ 8 พ.ย.64 เข้ายื่นหนังสือและเข้าหารือตรงกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ย้ำชัดยืนหยัดปกป้องและคงไว้หลักการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ไม่ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ทั้งสิ้น โดยให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.65 รมว.ยุติธรรมได้แจ้งกลับมาว่า กระทรวงยุติธรรมเห็นด้วยในหลักการและได้แจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯแล้ว นายกฯก็ได้ลงนามเห็นชอบเช่นกัน

ก้าวหน้าจ้องรื้อ รธน.ยุบภูมิภาค

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า รัฐบาล คสช.จนถึงปัจจุบัน กระจายอำนาจไม่ถูกต้อง คสช.มีวิธีคิดกระจายอำนาจโดยให้ผู้ว่า ราชการจังหวัดตัดสินใจเป็นหลัก ดังนั้น ในปี 65 คณะก้าวหน้าจะรณรงค์การกระจายอำนาจ โดยกระจาย งาน งบประมาณ บุคลากรไปไว้ที่ท้องถิ่น เพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) นายอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด เหมือนประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ เราจะเริ่มเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 เรื่องการปกครองท้องถิ่น ที่เขียนเรื่องการกระจายอำนาจแบบถอยหลังเข้าคลอง จึงต้องนำหมวด 9 รัฐธรรมนูญปี 40 เรื่องการปกครองท้องถิ่นที่เขียนไว้ดีพอสมควรกลับมาใหม่ เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 40 พลัส โดยพลัสเข้าไปอีก 2 เรื่อง คือ พลัสแรก ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศ ไทยต้องเลิกราชการส่วนภูมิภาค และพลัสสอง ใช้หลักการอำนาจเป็นของท้องถิ่น เว้นแต่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น หรือท้องถิ่นไม่มีศักยภาพทำ ส่วนกลางจึงค่อยเข้ามาช่วย

ปฏิรูป ขรก.เขย่าโครงสร้างรัฐไทย

นายปิยบุตรกล่าวว่า หากปฏิรูประบบราชการทำสำเร็จก็เขย่าโครงสร้างรัฐไทย ที่ผ่านมาเอา ผวจ.ไปนั่งคร่อม อบจ. เอาศึกษาธิการจังหวัดไปนั่งคร่อมโรงเรียน อบจ.ต้องเอาที่ครอบนี้ออก เป็นการรวมพลังผู้บริหารท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่ง เป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เน้นกระจายอำนาจแบบใหม่แข่งกับการกระจายอำนาจแบบ คสช. ที่ล้าสมัยมาก หากรอบนี้เข้าชื่อได้เป็นแสนรายชื่อและนำไปยื่นต่อสภาฯ ตนและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จะเข้าไปในฐานะผู้ชี้แจงต่อสภาฯ อยากรู้ ส.ว.จะว่าอย่างไร ส.ว.หลายคนเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการกระจายอำนาจ หรือท้ายที่สุดพอเห็นหน้าพวกตนสองคนก็ไม่เอาอีก เรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับวุฒิสภา องค์กรอิสระ และสถาบัน ทั้งนี้จะเปิดให้เข้าชื่อในวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.65 คาดได้บรรจุเข้าวาระประชุมสภาฯช่วงเดือน พ.ย.65 สาเหตุที่เลือกวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากเป็นวันสัญลักษณ์ครบรอบ 130 ปี การปฏิรูปราชการ สมัยรัชกาลที่ 5 ต้นแบบการเกิดขึ้นของกระทรวงมหาดไทย และต้นแบบการสร้าง ผวจ.

โพลโหวต “ชัชชาติ” นำโด่งผู้ว่าฯ กทม.

วันเดียวกัน นิด้าโพล เผยผลสำรวจเรื่อง อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 9 สำรวจวันที่ 23-25 ธ.ค.64 จากประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง 1,317 ตัวอย่าง พบว่า บุคคลที่จะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อันดับ 1 ร้อยละ 38.8 คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 13.06 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 3 ร้อยละ 11.85 ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ร้อยละ 10.25 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 5 ร้อยละ 4.94 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) อันดับ 6 ร้อยละ 4.71 ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า อันดับ 7 ร้อยละ 4.10 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 8 ร้อยละ 3.26 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อันดับ 9 ร้อยละ 2.96 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 10 ร้อยละ 2.35 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันดับ 11 ร้อยละ 1.90 นายสกลธี ภัททิยกุล เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 8 เดือน ธ.ค.64 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร, ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ และนายสกลธี ภัททิยกุล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น