การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP 27 เวทีการประชุมปัญหาโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุด ของโลก เริ่มขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 3-18 พ.ย.2565 ณ เมืองชาร์ม เอลชีค ประเทศอียิปต์
วาระสำคัญของการประชุม COP 27 เป็นการติดตามความคืบหน้าการวางแผนดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในการประชุม COP 26 เมื่อปี 2564 ที่ตกลงและให้คำมั่นสัญญากันว่าภายในสิ้นปี 2565 ประเทศต่างๆจะต้องตีพิมพ์แผนดำเนินการที่จะบรรลุเป้าหมายว่าจะร่วมกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ให้ได้ภายใน ค.ศ.2100 หรือ พ.ศ.2643
ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุม COP 27 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในวันที่ 15–16 พ.ย.2565
เป้าหมายของการประชุม COP 27 จะมุ่งเน้นการเร่งดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และยกระดับการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส โดยตระหนักว่า “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)” มีความสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ประชุมจะพิจารณาแผนงานด้านเป้าหมายของโลกด้านการปรับตัวฯ เพื่อยกระดับการดำเนินงานและการสนับสนุนด้านการปรับตัวฯ ให้กับภาคี และประเด็นการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งจะมีวาระการพิจารณาเรื่องกลไกสนับสนุนทางการเงิน เพื่อดำเนินงานด้านการสูญเสียและความเสียหายขึ้นเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้จะมีการหารือแผนงานสำหรับการยกระดับเป้าหมายและการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก เป็นต้น
“การเข้าร่วมประชุม COP 27 ทส.ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระราชทานคำแนะนำการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งประทานพระอนุญาตให้ ทส. นำข้อมูลโครงการในพระองค์ที่เกี่ยวข้องไปจัดแสดงเผยแพร่ใน Thailand Pavilion ที่มีการนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทยอีกด้วย” นายวราวุธ กล่าว
สำหรับท่าทีของประเทศไทยในการประชุม COP 27 นายวราวุธ เล่าว่า ประเทศไทย จะสนับสนุนการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก โดยจะเข้า ร่วมการเจรจาด้วยความเชื่อมั่นในกระบวนการของสหประชาชาติ ยึดถือแนวทางการหารือที่จะก่อให้เกิดฉันทามติ โดยคำนึงถึงการรักษาภูมิอากาศของโลกไปพร้อมกับผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน และยืนยันว่าการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงหลักการ ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและหลักความรับผิดชอบ ร่วมกันในระดับที่แตกต่าง และคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี (CBDR-RC) รวมถึงความต้องการและสถานการณ์เฉพาะของประเทศกำลังพัฒนา โดยนโยบายและมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีนัยซ่อนเร้นต่อการค้าระหว่างประเทศ
“ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทนำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ สอดคล้องกับหลักการ CBDR–RC รวมถึงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และระดับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต และประเทศไทยตั้งใจจะร่วมกับภาคีอื่นเพื่อดำเนินงานตามความตกลงปารีส ตามข้อตัดสินใจที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตาม Paris Agreement Work Programme ที่ภาคีได้ตกลงร่วมกัน โดยสอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส และคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน” รมว.ทส. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระบุ
ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.ที่จะร่วมเดินทางไปประชุม COP 27 เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการลดโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง มีการทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ
“ทส.ได้ทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศที่เหมาะสม โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 ซึ่ง ทส.จะจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ให้กับกรอบอนุสัญญาฯในช่วงการประชุม COP 27 และจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ รายสาขาเพื่อกำหนดรายละเอียดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ ไทยต่อไป” นายจตุพร ระบุ
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่าการประชุม COP 27 คือความท้าทายระหว่างประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะความท้าทายต่อวิกฤติโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะจะส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนในโลกและทุกประเทศ
แต่สิ่งที่เราห่วงคือการเจรจาบนเวที COP 27 ซึ่งมีประเทศมหาอำนาจร่วมอยู่ด้วย ประเทศไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่แหลมคมรวมทั้งจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อต่อรองไม่ให้เสียเปรียบหรือเพลี่ยงพล้ำ
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยไว้ให้ได้.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม