พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม ดูหนังกลางแปลง “รักแห่งสยาม” รณรงค์ความคืบหน้า “สมรสเท่าเทียม” นับถอยหลัง 9 เดือน ร่าง พ.ร.บ.กฎหมายผ่านสภาแน่ คาด เดือนพฤศจิกายน ผ่านวาระ 2-3 แล้วปี 66 เม.ย. คนไทยได้ใช้
วันที่ 28 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกิจกรรมกรุงเทพกลางแปลง ที่ฉายหนังเรื่อง “รักแห่งสยาม” ณ ลานกิจกรรมสยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม. พรรคก้าวไกล นำโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และพริษฐ์ วัชรสินธุ์ เข้าร่วมกิจกรรมดูหนังกลางแปลง และรณรงค์ความคืบหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียม
ธัญวัจน์ กล่าวว่า สาเหตุที่เรามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ด้านหนึ่งเพื่อรณรงค์ความคืบหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไปแล้ว และกำลังพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งบรรยากาศในกรรมาธิการหรือแม้แต่กับ ส.ว. เอง ต่างให้การตอบรับที่ดีกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และเราเชื่อว่า ถ้าบรรยากาศการทำงานยังเป็นแบบนี้ต่อไป คนไทย จะได้ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่านสภาไปด้วยกัน
“ภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ถือว่าเป็นหนังที่มาก่อนกาล ในช่วงเวลาที่หนังฉายภาพ ความปรารถนาดีและความรู้สึกดีๆ ระหว่างคนสองคนที่เป็นเพศสภาพเดียวกันยังไม่มีคำอธิบายและ ได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้ความรู้สึกดีๆ ของคนทั้ง 2 คนต้องจบลง แต่ในวันนี้ ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าใกล้ความเป็นจริง มันคือการทำให้คู่รัก LGBTQ+ มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในความสัมพันธ์ที่เติบโตและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นร่วมกันในความเป็นครอบครัวเดียวกัน” ธัญวัจน์ กล่าว
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ พริษฐ์ ที่บอกว่า หลังผ่านมา 16 ปี ที่ภาพยนตร์รักแห่งสยามออกฉายเป็นครั้งแรก ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่า ถึงสังคมจะตื่นตัวมากแค่ไหน แต่ถ้ากฎหมายไม่ปรับตามความก้าวหน้าของสังคม แล้วก็ไม่อาจพูดได้ว่า คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมายที่เรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่เป็นเครื่องหมายว่าคู่รักทุกคู่มีสิทธิ์ที่จะรักและสร้างสถาบันครอบครัวร่วมกันได้ แต่จะนำไปสู่สิทธิและสวัสดิการอื่นๆ ที่จะมีร่วมกันเช่น การรับบุตรบุญธรรม การรับสวัสดิการ การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นให้กันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ
“บทสรุปของหนังที่เราอยากเห็นคือโต้งและมิว สามารถรักกันและใช้ชีวิตคู่กันได้ในประเทศนี้ เหมือนคู่รักชาย-หญิง ซึ่งต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกฎหมายและค่านิยมสังคม” พริษฐ์กล่าว
ด้าน ณธีภัสร์ ได้พูดถึงความคืบหน้าของการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมโดย คาดว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะจบชั้นกรรมาธิการในเดือนตุลาคม และจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2-3 เพื่อผ่านกฎหมายในเดือนพฤศจิกายน หลังเปิดสมัยประชุมหน้า และคาดว่า จะเข้าพิจารณาในวุฒิสภาในต้นปีหน้า
“ถ้ากฎหมายนี้ผ่านทุกด่านคนไทยจะได้สมรสเท่าเทียมไม่เกินเมษายนปีหน้าแน่นอนครับ” ณธีภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย.