กรมควบคุมมลพิษ เผยคุณภาพอากาศทั่วประเทศพบ “ภาคเหนือ” มีฝุ่นพิษมากที่สุด 20 จังหวัด ขณะที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่าสูงสุด 328 มคก./ลบ.ม. เตือนเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5-6 เม.ย.เหตุอากาศปิด
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบค่าฝุ่นระหว่าง 14-328ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานใน 20 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู และ จ. อุบลราชธานี
ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 40 – 328 มคก./ลบ.ม. แจ้งเตือนฝุ่นระดับสีแดง 21 พื้นที่ สูงสุดสุดที่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 328 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 25 – 82 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 18 – 41 มคก./ลบ.ม.ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 15 – 31 มคก./ลบ.ม.ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14 – 23 มคก./ลบ.ม. กทม.และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14 – 41 มคก./ลบ.ม.
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ.รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 – 9 เม.ย. ดังนี้ วันที่ 3 – 9 เม.ย.เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 3 – 9 เม.ย.อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 3- 4 เม.ย.สถานการณ์อาจบรรเทาลงได้บ้างเนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น แต่ช่วงวันที่ 5-6 เม.ย. ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะอากาศค่อนข้างปิด ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์