ผอ.รพ.บุษราคัม เผย ก.ค.เดือนเดียวรับผู้ป่วยโควิดดูแลเกือบ 9 พันคน พบมีอาการซับซ้อนรุนแรงเพิ่มขึ้น เตรียมเปิดหอผู้ป่วยวิกฤตดูแลสีแดงเพิ่มอีก 17 เตียง รับคนใช้ออกซิเจนมากขึ้นจนเกือบหมด สั่งเครื่องผลิตออกซิเจนอีก 550 เครื่อง ทำหนังสือเพิ่มค่าตอบแทนเพิ่ม 3 เท่า
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะ ผอ.รพ.บุษราคัม แถลงข่าวผ่านออนไลน์กรณีการให้บริการ รพ.บุษราคัม ว่า รพ.บุษราคัมเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. เริ่มต้นจำนวน 1,100 เตียง เปิดเฟสสองวันที่ 28 พ.ค.จำนวน 1,100 เตียง และเฟสสาม วันที่ 4 ก.ค. จำนวน 1,500 เตียง เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเปิดจนเต็มทั้ง 3 ฮอล รวม 3,700 เตียง
ผู้ป่วยสะสม 2 เดือนครึ่งประมาณ 13,000 คน ยังรักษาอยู่ 3,500 คน หายกลับบ้าน 9 พันคน ช่วง พ.ค.-มิ.ย. ผู้ป่วยสะสมประมาณ 4,200 คน ผู้ป่วยอาการรุนแรงใช้เครื่องช่วยหายใจน้อย พ.ค.เป็น 0 มิ.ย.ประมาณ 2% แต่ ก.ค.เดือนเดียวรับผู้ป่วยเกือบ 9 พันคน เพราะมีการระบาดมาก และผู้ป่วยมีความซับซ้อน อาการหนักกว่า มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ 5% แต่นับเฉพาะช่วงครึ่งเดือนหลัง ก.ค.ใช้มากถึง 10% ซึ่งเรามีจุดให้ออกซิเจนใน รพ.ประมาณ 800 จุด โดย 3-4 วันก่อนเราใช้ออกซิเจนไปเกือบหมด จึงจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนมาเสริม สั่งซื้อแล้ว 550 เครื่อง เพื่อมารองรับผู้ป่วยจำนวนมากกว่านี้ จากการพยากรณ์ยังมีการระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง
“เรามีนโยบายไม่ปฏิเสธผู้ป่วย จึงมีผู้ป่วยทุกประเภท ทั้งคนไทย ต่างด้าว มีทั้งเด็ก 1 เดือนที่มีผู้ปกครองดูแล ผู้ใหญ่ทั้งที่เดินได้ เดินไม่ได้ ติดเตียง ผู้พิการ แผลกดทับ โดย ก.ค.มีผู้ป่วยอาการซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่บุคลากรเรามีจำกัด เนื่องจากเป็นบุคลากรที่เป็นอาสาสมัครมาจากภูมิภาค และตอนนี้เมื่อมีการล็อกดาวน์ คนกลับต่างจังหวัดมากขึ้น มีการติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ทางภูมิภาคก็หนักหน่วงเช่นกัน การนำบุคลากรมาช่วย รพ.จึงเป็นปัญหาของ รพ.ในตอนนี้ และเดินทางมายากจากการล็อกดาวน์ การดูแลอาจไม่ได้ 100% หรือเต็มที่เหมือน รพ.ในภาวะปกติ แต่พยายามให้บริการเต็มความสามารถ” นพ.กิติศักดิ์กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดบริการมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนมาช่วยเกือบ 1.8 พันคน ในทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ แพทย์เชี่ยวชาญ พยาบาล เภสัชกร ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักรังสี พนักงานเปล พนักงานขับรถยนต์ หน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยจากเขตสุขภาพที่ 4 ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 300 คน เฉพาะพยาบาลประมาณ 200 คน แบ่งเวรผลัด 3 เวร เวรละ 8 ชั่วโมง ตกผลัดละ 60-70 คน ซึ่งต้องดูแลคนไข้ถึง 3,500 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 200 คน
ถือว่าหนักหน่วง จึงมีการขึ้นเวรมาช่วย และเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถและประสิทธิภาพที่สุด จึงลดกระบวนการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการเขียนกระดาษ ใช้ใบสั่งการรักษาที่ปรินท์รอไว้แล้ว เจาะเลือดและให้ยาฟาวิพิราเวียร์ คนไข้ใหม่ที่อาการสีเหลืองขึ้นไปตรงจุดแรกรับ เพระาหากรอเข้าหอผู้ป่วยจะช้ากว่าที่ควรเป็น สำนักงานปลัด สธ.ส่งเจ้าหน้าที่แบคออฟิศมาช่วยวันละ 20 คน ลดภาระงานหมอ พยาบาล หรือทหารที่มาช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ส่งอาหาร และตำรวจที่มาประจำตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลการจราจรและความปลอดภัย
“การจัดบริการเรามีการแยกโซนรวมผู้ป่วยประเภทเดียวกัน เพื่อให้ดูแลง่ายขึ้น เช่น หมู่บ้านเบาหวาน หมู่บ้านล้างไต โซนใช้เครื่องออกซิเจน โซนครอบครัว ให้อยู่ใกล้กัน นอกจากนี้ ยังจัดผู้ป่วยเป็นหน่วยหน่วยละ 18 คน และมีอาสาสมัครของหน่วย เรียกว่า ผู้ใหญ่บ้าน คอยช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในกลุ่ม ช่วยวัดความดัน วัดไข้ วัดออกซิเจน ส่งข้อมูลสื่อสารกับทางพยาบาล หมอผู้รักษา ต้องขอบคุณที่ป่วยแล้วยังกรุณาช่วยดูแลผู้อื่น และมีอาสาสมัครทำงานทั่วไป
เช่น ทำความสะอาดห้องน้ำ เข็นคนไข้ที่ป่วยและเสียชีวิต ซึ่งอาสาสมัครหลายคนที่ครบกำหนดกลับบ้านและยินดีขอทำต่อ เราประชุมพิจารณาว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ควรให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม จัดที่อยู่อาหารการกิน ให้ช่วยงานเท่าที่ยินดี เพราะหลุดจากความเป็นคนไข้แล้ว แต่เราไม่ได้จ้าง” นพ.กิตติศักดิ์กล่าวและว่า สำหรับห้องส้วมที่มีปัญหาสกปรก ได้ให้ รพ.พระนั่งเกล้าจ้างคนทำความสะอาดเพิ่มและเพิ่มรอบทำความสะอาด ส่วนอาหารและน้ำดื่มยังมีเพียงพอ โดยวันพรุ่งนี้จะบิ๊กคลีนนิ่งจุดแรกรับผู้ป่วยด้วย
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะทำเพิ่มเติม คือ ทำฟาสต์แทร็กเส้นทางด่วนผู้ป่วยแรกรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนติดเตียง เด็กน้อย หญิงตั้งครรภ์ ให้ตรวจคัดกรองและส่งเข้านอนก่อนคนอื่นที่แข็งแรงมากกว่า จะเริ่มใน 2-3 วันนี้ ขณะที่เตียงไอซียูดูแลสีแดงเรามี 12 เตียง กำลังจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤตดูแลสีแดงอีก 17 เตียง พร้อมระบบความดันลบ คาดเปิดได้ในสัปดาห์หน้า มีอุปกรณ์พร้อมแบบไอซียู และมีทีมแพทย์ พยาบาลไอซียูต่างจังหวัด ที่กำลังเดินทางมาถึงพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) และต้องขอบคุณหมอเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 69 คน ทั้งด้านวิกฤต ทางเดินหายใจอายุรกรรม โรคติดเชื้อ หลังจากจบเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทาง สธ. ได้ให้อยู่ต่อในกทม.เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย โดยประจำอยู่ทั้ง รพ.รามา ธรรมศาสตร์ รพ.พลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฏวัฒนะ และอีกครึ่งหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่รพ.บุษราคัม เรียกว่าเป็นเสาหลักของทีมในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รพ.บุษราคัม ภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาการหนักมากขึ้น จึงมีการปรับค่าตอบแทน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ สธ.ปรับได้ตามภาระงานที่เพิ่มขึ้น และสถานะเงิน รพ.ที่เพียงพอให้ค่าตอบแทน จึงเสนอให้ รพ.พระนั่งเกล้าและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 4 ถ้าหนังสือมาจะอนุมัติตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จะได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งปกติจะรับจากเงินเดือน