โฆษก ตร.เผย รอง ผบ.ตร.สั่งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องระดมกวาดล้างความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ประเภท พร้อมแนะวิธีป้องกันถูกดูดเงินจากบัญชี ด้วยตัวเอง
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีมีคนร้ายลักลอบหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิต หรือบัญชีบัตรเดบิต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างกระจายทั่วประเทศ ประกอบกับมีคดีฉ้อโกงออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับความเสียหาย จึงสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในภาพรวม และเมื่อ 19 ต.ค. ตร. ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับ ปปง. กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และหน่วยในสังกัด ตร. เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้ควบคุมสั่งการกำชับการปฏิบัติกรณีประชาชนแจ้งความว่าถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร บัญชีบัตรเครดิต หรือบัญชีบัตรเดบิตอย่างผิดปกติ โดยให้ บช.สอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ และประสานกับธนาคาร ที่เจ้าของบัญชีเป็นผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี ส่วนกรณีประชาชนมาแจ้งความในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม เช่น ยังไม่ได้รับเงินคืนในบัญชี หรือได้เงินไม่ครบ หรืออื่นๆ ให้พนักงานสอบสวนรับแจ้งไว้ และให้ส่งเรื่องให้ บช.สอท. ดำเนินการ โดยให้แนะนำประชาชนว่าในเรื่องนี้ ตร. และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือร่วมกันแล้ว มีแนวทางว่าธนาคารเป็นผู้เสียหาย และเป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งธนาคารจะทำการตรวจสอบในระบบ หากพบว่าเงินหาย ธนาคารจะคืนเงินให้แก่เจ้าของบัญชี ภายใน 5 วัน โดยเจ้าของบัญชีไม่ต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ให้แจ้งข้อมูลให้ธนาคารทราบ และมอบหมายให้ ศปอส.ตร. ศปอส.บช.น./ภ.1 – 9 และ บช.สอท. ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการป้องกันมิให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย โดยมีข้อควรระวัง ดังนี้
1. ให้ระมัดระวังการกรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งคนร้ายอาจจะทำหน้าเว็บไซต์มีโลโก้ปลอมให้เหมือนกับบริษัทหรือร้านค้าที่ประชาชนติดต่อ
2. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่มีการส่งมาทาง Email, SMS หรือสื่อสังคมออนไลน์ และการเข้าเว็บไซต์ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่ทำมาได้แนบเนียนโดยไม่ตั้งใจ
3. ระมัดระวังการนำบัตรเครดิตไปใช้จ่ายที่ร้านค้าหรือบริการต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไว้วางใจ เพราะอาจถูกลักลอบบันทึกข้อมูลด้านหน้าและหลังบัตร ซึ่งมีเลขหลังบัตร CVV นำไปใช้ผูก หรือทำธุรกรรมออนไลน์ได้
4. ควรใช้แผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดทับรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัว ดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบเลขรหัสดังกล่าวออกจากหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่าย ประจำวันและป้องกันมิจฉาชีพมิให้ถ่ายรูปด้านหน้าและด้านหลังบัตร
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ยังสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องระดมกวาดล้างความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ประเภท ได้แก่ การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และสินค้าผิดกฎหมาย การเผยแพร่ข่าวปลอมและคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และท่ีแก้ไขเพิ่มเติม การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือสตรีทางอินเทอร์เน็ต และค้ามนุษย์ และการพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติและอื่นๆ ในห้วงระหว่างวันที่ 20-31 ต.ค. 64
ทั้งนี้ หากประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ หมายเลข 1441 บช.สอท. ในวัน-เวลาราชการ