ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวงการคลัง ลดหย่อนภาษีซื้อสินค้า ตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2566” ระหว่าง 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66
วันที่ 29 ธ.ค. 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 386 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ไว้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าใบกำกับภาษีหรือใบรับจะได้จัดทำในรูปแบบกระดาษหรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 2 ในกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1 เกิน 30,000 บาท ให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ข้อ 3 เงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 1 และข้อ 2 กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้
(1) ค่าซื้อหนังสือ
(2) ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ข้อ 4 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามกฎกระทรวงนี้ ไม่รวมถึงค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้
(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
(5) ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
(7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
(8) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(9) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 1
(10) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ข้อ 5 ผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎกระทรวงนี้ต้องไม่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายมีการระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 และส่งสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการขยายฐานภาษีรวมทั้งสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการบางประเภทให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้.