จับกระแสรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ในเนปาล หรืออย่างน้อย คือกระแสเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
หลังจากผ่านเหตุสังหารหมู่ในพระราชวงศ์และความไม่พอใจของประชาชนต่อพระราชาธิดีชญาเนนทระที่ทรงรวบอำนาจเด็ดขาดโดยปิดสภาผู้แทนฯ บวกกับสงครามกลางเมืองยืดเยื้อกับพวกนิยมลัทธิเหมา ในที่สุด กษัตริย์ชญาเนนทระต้องทรงยอมเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
มันเป็นเหมือนการเปิดศาลชี้ขาดดวงชะตาของพระองค์และระอบบราชาธิปไตยในเนปาลที่ยืนาวมานับพันปี เพราะหลังการเลือกตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลก็ไม่ปล่อยให้กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแทรกแซงการเมืองอีก สภามีมติ “ยกเลิกราชอาณาจักร” อย่างเป็นทางการในสมัยประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 แล้วประกาศให้เนปาลเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย
จากวันนั้นถึงวันนี้ มีบางช่วงที่ระบอบกษัตริย์เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ก็เช่นกัน ระบอบสาธารณรัฐก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นมาแบบพลิกฟ้าคว่ำดินเหมือนกัน
จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มคิดถึงระบอบกษัตริย์ขึ้นมาเรื่อยๆ บวกกับมีพรรคการเมืองบางพรรคชูนโยบาย “เปลี่ยนเนปาลให้เป็นรัฐฮินดู” เป็นแนวทางชาตินิยมแบบหนึ่งที่ผูกติดความเป็นเนปาลกับศาสนาฮินดู และผูกโยงมาถึงระบอบกษัตริย์ในฐานะผู้พิทักษ์และสืบสานวัฒนธรรมฮินดู ในฐานะ “องค์อวตาร” ของพระวิษณุ
พรรคการเมืองนั้นคือพรรค “ราษฏริยะ ประชาตันตระ” ตอนนี้มีคะแนนเสียงอันดับที่ 4 ในสภา แต่ก็เดินเกมนอกสภาด้วย ดังจะเห็นได้จากกระแสชุมนุมประท้วงไล่รัฐบาลและเรียกร้องให้เปลี่ยนประเทศเป็นรัฐฮินดูรวมถึงรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์
การประท้วงเริ่มหนักขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และลากยาวมาถึงปลายปีที่แล้ว ในระหว่างปีนั้นมีขบวนการชาตินิยมฮินดูผลัดกันออกมาแสดงพลังอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้กระแสนิยมกษัตริย์อยู่ในกลุ่มคนไม่ใหญ่นัก แต่ตอนนี้มันเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะ 2 สาเหตุ 1. เพราะผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายนักการเมือง และ 2. เพราะกระแสชาตินิยมฮินดูที่ล้นทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน คืออินเดีย
ตอนนี้อินเดียมีรัฐบาลชาตินิยมฮินดู คือพรรคภารติยะ ชนตะ
กระแสทั้งชาตินิยมและฮินดูนั้นแรงขนาดไหน จะขอยกตัวอย่างสั้นๆ ว่า หากพวกฮินเดูหัวรุนแรงไปเจอคนต่างศาสนากินเนื้อวัว (ที่ถือกันว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์) พวกหัวรุนแรงนี้อาจเล่นกันถึงเลือดตกยางออก บางกรณีทำร้ายกันถึงตาย
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คนมุสลิมอินเดียบางกลุ่มไปเชียร์ทีมคริกเก็ต (กีฬาที่คนอินเดียและประเทศในอนุทวีปคลั่งไคล้มาก) ประเทศปากีสถาน ในวันที่ปากีสถานเอาชนะทีมอินเดียได้ ทำให้ตำรวจถึงกับไปจับมุสลิมอินเดียเหล่านั้นเสีย ในข้อหา “เป็นขบถ”
นีคือความแรงของกระแสชาตินิยมฮินดูในอินเดียและตอนนี้มันลามเข้ามาในเนปาลแล้ว
สิ่งที่ต่างไปคือชาตินิยมฮินดูอินเดียไม่พยายามโยงกับระบอบกษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นเพราะก่อนมีเอกราชนั้น อินเดียมี “ราชรัฐ” ที่ปกครองด้วยมหาราชหลายสิบรัฐ ทำให้ไม่มีระบอบราชาธิปไตยรวมศูนย์ เมื่ออินเดียได้เอกราช มหาราชรัฐต่างๆ จึงโอนพระราชอำนาจให้รัฐบาลกลางตั้งสหพันธรัฐขึ้นมา โดยไม่ต้องแย่งกันเป็น “พระราชาธิราช” (กษัตริย์เหนือกษัตริย์) ระบอบนี้ดูจะเข้ากับอินเดียมากกว่า
ขณะที่เนปาลเป็นราชอาณาจักรมาหลายร้อยปี มีพระราชาที่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดพระองค์เดียว แม้ในบางช่วงพระราชอำนาจถูกช่วงชิงไปโดนเสนาบดีผู้ทรงอำนาจสกุลรานา ก็ยังถือว่าเป็นราชอาณาจักรสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระมหากษตริย์ยังทรงผูกอำนาจการปกครองเข้ากับพระราชกรณียกิจในฐานะองค์ศาสนูปถัมภกของศาสนาฮินดูด้วย ทำให้ความเป็น “ผู้ปกป้องราษฏร” และ “ผู้ปกป้องศาสนา” ของพระราชาเนปาลแยกไม่ออกกับความเป็น “สมมติเทพ” ตามคติฮินดู ที่ทรงอวตารลงมาเพื่อปกครองมนุษย์และพิทักษ์ธรรม
ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ ผู้ก่อตั้งประเทศเนปาล และ “บิดาแห่งแผ่นดิน” เมื่อ 300 ปีที่แล้ว ทรงตั้งประเทศขึ้นมาในฐานะเป็น “อสลี ฮินดูสถาน” หรือ “ฮินดูสถานที่แท้จริง” ให้เนปาลเป็นดินแดนของชาวฮินดู ใช้กฎหมายพระธรรมศาสตร์อย่างฮินดู ทรงประกาศชวนชาวฮินดูมาอยู่ใต้พระบารมี เพราะในขณะนั้นอินเดียปกครองโดยชาวมุสลิมแห่งจักรวรรดิโมกุล มหาราชฮินดูรัฐต่างๆ ในอินเดีย แม้จะนับถือฮินดูได้ แต่ต้องยอมศิโรราบต่อจักรพรรดิโมกุล
นั่นยิ่งทำให้คนเนปาลชื่อว่าการป้องป้องระบอบกษัตริย์เท่ากับการป้องป้อง “สนาตนะธรรมะ” (หมายถึงธรรมอันเป็นนิรันดร์ของศาสนาฮินดู)
คล้ายกับแนวคิดเรื่อง Defender of the Faith หรือกษัตริย์คือผู้ปกป้องศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตก และสถานะของกษัตริย์สยามที่บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น Defender of the Buddhist Faith
และในเมื่อความเป็นฮินดูคืออัตลักษณ์ความเป็นคนเนปาล การรื้อฟื้นระบบกษัตริย์จึงเท่ากับรื้อฟื้นความภาคภูมิใจในความเป็นคนเนปาลไปด้วย
นี่คือตรรกะของ “ขบวนการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์”
แม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับระบอบกษัตริย์ที่สุด เช่น ภานุ ภักะ ธากัล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล ที่เรียกพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวเนปาล” สะท้อนความคิดเรื่องกษัตริย์คือผู้พิทักษ์แผ่นดินและศาสนาฝังอยู่ในใจคนเนปาลทุกหมู่เหล่า ไม่เว้นแม้แต่ “ฝ่ายล้มเจ้า”
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งแรกที่ต้องมีคือทำให้ประชาชนมี “ความหวัง”
ข้อเสียของรัฐบาลสาธารณรัฐคือผ่านมา 14 ปี ประชาชนยังจนเหมือนเดิม ประเทศย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม นักการเมืองชิงอำนาจกันป้นงานหลัก พัฒนาบ้านเมืองเป็นงานรอง ประชาชนจึงสิ้่นหวัง
เมื่อระบบสาธารณรัฐถูกโยงกับความสิ้นหวัง ขบวนการรื้อฟื้นกษัตริย์จึงโยงเข้ากับความหวัง ความหวังที่ชาวเนปาลจะมีเกียรติภูมิอีกครั้ง
การโหยหาความหวังชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้ว ครบรอบ 299 ปี ของวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ ปรากฎว่ามีประชาชนมาร่วมชุมนุมล้นหลามแบบที่รัฐบาลคาดไม่ถึง
ในปีเดียวกันนั้น ในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของอดีตกษัตริย์ชญาเนนทระมีผู้คนหลายพันคนเดินทางไปถวายพระพร
มาปีนี้ ครบรอบ 300 ปีของวันคล้ายวันพระสูติของพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะ คราวนี้มีเซอร์ไพรส์อีก เมื่ออดีตกกษัตริย์ชญาเนนทระเสด็จไปร่วมงานรำลึกพร้อมด้วยฝูงชนที่คับคั่ง นับเป็นงานแรกที่ปรากฏพระองค์แบบ “งานหลวง” นับตั้งแต่ระบอบกษัตริย์สิ้นสุด
นี่คือสัญญาณว่าฝ่ายสถาบันกษัตริย์เดินเกมส์รุกเรียกคะแนนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ปัญหาของขบวนการนี้คือ “อดีตกษัตริย์ชญาเนนทระ”
ทรงมีประวัติที่ด่างพร้อยเรื่องการเป็นเผด็จการ ตรงไม่คล้อยตามการปฏิรูป กุมอำนาจเพียงลำพัง ดังที่บอกว่าหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วช่วงหนึ่งระบบกษัตริย์ “ถูกเมิน” จากสังคมเนปาล เพราะองค์พระประมุขไม่เป็นที่นิยมเอามากๆ
แต่ตอนนี้ประชาชนเริ่มหันมาสนใจพรองค์ นั่นสะท้อนว่าแม้แต่กษัตริย์ที่ด่างพร้อยก็ยังอาจให้ความหวังมากกว่านักการเมืองอาชีพ
อย่างที่ สูรยะ นารายัณ ปูเดล (Surya Narayan Poudel) นักรัฐศาสตร์กล่าวกับ Swarajya สื่ออินเดียว่า “วิธีที่นักการเมืองหมกมุ่นอยู่กับอำนาจ ความไร้สาระของพวกเขา และแนวโน้มจะคุยโวโอ้อวด ความล้มเหลวของสถาบันประชาธิปไตยหลายแห่ง และการบริหารที่ผิดพลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้คนรังเกียจและไม่แยแส ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ความต้องการจะย้อนกลับเป็นไปอย่างสมัยก่อนจึงเริ่มมีน้ำหนัก”
ย้อนกลับไปในการให้สัมภาษณ์กับช่อง News 24 TV ในปี 2555 พระเจ้าชญาเนนทระตรัสว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์แห่งเนปาลอีกครั้ง
แม้จะไม่ได้ทรงบอกว่าเมื่อใด แต่ดูเหมือนว่าถ้อยพระดำรัสนั้นเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นทุกที
โดย กรกิจ ดิษฐาน