รู้จัก! “จันทรุปราคาเต็มดวง” ดวงจันทร์สีเลือด “คืนวันลอยกระทง” 8 พ.ย.65 พลาดแล้วต้องรออีก 3 ปี

รู้จัก “จันทรุปราคาเต็มดวง” เห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง ในคืนวันลอยกระทง 8 พ.ย.65 พลาดครั้งนี้ ต้องรอชมอีกครั้ง 3 ปีข้างหน้า หรือวันที่ 8 กันยายน 2568

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า จันทรุปราคา (Lunar Eclipses) ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อยๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์”

เงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เงามัว (Penumbra Shadow)” เป็นเงาส่วนนอกสุด เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และ “เงามืด (Umbra Shadow)” เป็นเงาที่มืดสนิท เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ดังนี้

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด เรายังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

จันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันลอยกระทง 2565

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คืนวันลอยกระทง เป็นปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.02 – 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปอเมริกาเหนือ บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของขั้วโลกใต้

ประเทศไทย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17.44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17.44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทยครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 8 กันยายน 2568.

คลิกชมที่นี่