ร้อนมาโอกาสทอง!! หมู่บ้านอาชีพแปลก ล่าตุ๊กแกแปรรูปอบแห้งส่งออก โกยรายได้เดือนละแสน

ร้อนมาโอกาสทอง ล่าตุ๊กแกแปรรูปอบแห้ง ส่งออก โกยเดือนละแสน นครพนม สุดทึ่งหมู่บ้านอาชีพปริศนาที่เดียวในไทย ยึดอาชีพแปลกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมาโอกาสทอง

ออกล่าตุ๊กแก แปรรูปตากแห้งส่งขายจีน เงินสะพัดหมุนเวียนเดือนละหลายล้าน มีทั้งสดทั้งแห้ง ครบวงจร ส่งขายปลายทางไปจีนปรุงยาสมุนไพรชูกำลัง บางครอบครัวสร้างรายได้เดือนละแสน ยันไม่สูญพันธุ์ มีฤดูกาลพักให้ขยายพันธุ์ เงินหมุนเวียนสะพัดปีละหลาย 10 ล้านบาท

จ.นครพนม ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด ร้อนอบอ้าว ถึงแม้บางหมู่บ้านจะได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เนื่องจากฤดูฝนมาช้ากว่าทุกปี ไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่สำหรับชาวบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นช่วงโอกาสทอง เนื่องจากเป็นหมู่บ้านปริศนาที่เดียวในไทย ทำอาชีพแปลกตามฤดูกาล

ทั้ง จับตุ๊กแก ไส้เดือน ปลิง ส่งขาย สร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะในช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าว เป็นฤดูกาลของการจับตุ๊กแก แปรรูปขาย โดยช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ตุ๊กแก มีขนาดพอเหมาะสำหรับจับมาแปรรูปขาย หลังชาวบ้านพักการล่าตุ๊กแก มาตลอดทั้งปี

ทำให้ช่วงอากาศร้อน ก่อนถึงฤดูฝน ระหว่างเดือน มีนาคม – กรกฎาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะหันมาทำอาชีพล่าตุ๊กแก ส่งขายให้กลุ่มแปรรูป ตากแห้งส่งขายให้นายทุน โดยจะมีตัวแทนชาวบ้าน ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าคนกลาง รับซื้อตัวสด ในราคาตัวละ ประมาณ 20 – 40 บาท แล้วแต่ขนาด

จากนั้นจะนำไปทำการแปรรูป อบแห้งส่งขายให้นายทุน ราคาตัวละ 50 -80 บาท ตามขนาด เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เชื่อว่านำไปปรุงเป็นส่วนผสมของยาจีน เป็นยาชูกำลัง มีออเดอร์รับไม่อั้น ทำมานานกว่า 20 -30 ปี บางครอบครัวขยันสร้างรายได้ เดือนละนับแสนบาท ส่วนเงินหมุนเวียนสะพัดในพื้นที่ปีละหลาย 10 ล้านบาท

หลังจากหมดฤดูกาลจับตุ๊กแก จะพักล่าตุ๊กแก เพื่อให้มีการขยายพันธุ์ และจะหันไปทำอาชีพล่าปลิง อบแห้งขายตามฤดูกาลหมุนเวียนตลอดปี ทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่ ครบวงจรตลอดทั้งปี

ส่วน นายไสว อายุ 55 ปี ชาวบ้านตาลใหญ่ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม อาชีพแปรรูปตุ๊กแกส่งออกขาย เปิดเผยว่า ตุ๊กแกที่รับซื้อสดจะนำมาแปรรูป เริ่มจากการชำแหละเอาเครื่องในออก ส่วนอื่นยังต้องอยู่ครบ รวมถึงหางจะต้องไม่ขาด

จากนั้นจะช่วยกันในครอบครัวทำคนละหน้าที่ แปรรูป อีกคนจะนำตุ๊กแกมาขึงใส่ไม้แบบ ตามขนาด จะมีการวัดขนาดความกว้าง ส่วนใหญ่จะมีขนาดตัวละ 12 -15 เซนติเมตร

จากนั้นจะใช้เหล็กหนีบขึงให้หนังตุ๊กแกตึง ขึงขาทั้ง 4 ข้างออก รวมถึงมัดหางใส่ไม้เป็นก้านยาว ก่อนที่จะนำไปอบลมควัน ประมาณ 1 คืน ให้แห้งไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสียเวลาแพ็คส่งไปขาย ถือว่าสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

แต่ละวันจะมีการแปรรูปวันละ 400 -500 ตัว จะมีทั้งรับจ้างแปรรูป ตัวละประมาณ 7 -10 บาท ส่วนขายสดตัวละ 30 -40 บาท ตากแห้งตัวละ 50 -60 บาทตามขนาด แต่ละเดือนหักค่าใช้จ่ายแล้ว สร้างรายได้ดีพอสมควรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 -20,000 บาท มีเงินสะพัดในหมู่บ้านวันละนับแสน ในช่วงฤดูร้อน

ด้าน นายชาญชัย อายุ 65 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ค้าตุ๊กแก บ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดเผยว่า สำหรับบ้านตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม ได้ฉายาว่าหมู่บ้านปริศนา เนื่องจากจะมีอาชีพแปลกตามฤดูกาล ในช่วง ฤดูฝนจะจับปลิง กับตุ๊กแก แปรรูปขาย ส่วนฤดูหนาวจะเป็นไส้เดือน

โดยทำเป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมากว่า 30 ปี หลังมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อ แนะนำให้ทดลอง แปรรูปลองผิดลองถูก จนมีความชำนาญ สำหรับช่วงนี้จะเป็นการซื้อตุ๊กแกสด มาแปรรูป ส่งขาย เป็นการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้าน มีคนออกไปล่า รับซื้อมาทั่วประเทศ รวมถึงล่าตุ๊กแกในพื้นที่ละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งจะเริ่มช่วงเดือน มีนาคม – กรกฎาคม

จากนั้นจะพักการรับซื้อ เป็นช่วงการวางไข่ขยายพันธุ์ ที่ผ่านมายืนยันไม่กระทบการขยายพันธุ์ ทำมา 30 ปี ยังมีให้รับซื้อตลอด ส่งขายไปจีนออเดอร์รับไม่อั้น โดยจะต้องผ่านการแปรรูป ส่งออกไปขาย ส่วนตัวสดจะซื้อในราคาตัวละ ประมาณ 30 -40 บาท ตัวแห้งแปรรูป จะขายในราคาตัวละประมาณ 50 -60 บาท

แต่ละเดือนเฉพาะกลุ่มของตน แปรรูปส่งขาย สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว มีพ่อค้าคนจีนมารับซื้อไม่อั้น สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดวันละเป็นแสน บางครอบครัวแปรรูปขายเอง ทำเงินได้เดือนละเป็นแสนบาท

ส่วนคนที่ออกไปล่ามาขายจะมีรายได้เช่นกันวันละหลาย 1,000 บาท ถือเป็นอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ครบวงจรให้กับชุมชน ยิ่งช่วงโควิดซาทำให้การค้าขายตุ๊กแกกลับมาคึกคักอีกครั้ง