ลือ! พบผู้ป่วยไทยกลับจากแอฟริกา ตรวจพบเชื้อ “โอมิครอน” เข้ารักษาใน รพ.บำราศนราดูร กรมวิทย์ยันยังไม่พบ

ไทยติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่ง วันที่ 4 ของเดือน ธ.ค. พุ่งไปเฉียด 5.9 พันคน พบติดเชื้อในคุกพุ่งหลักพัน ขณะที่การฉีดวัคซีนสะสมลุ้นแตะ 95 ล้านโดส ด้านปลัด สธ.ย้ำไม่ได้บังคับฉีด ยังคงให้เป็นตามความสมัครใจ ขณะที่กรมวิทย์ย้ำยังไม่พบ “โอมิครอน” ในไทย หากเจอจะรีบบอกแน่นอน ด้านผู้ตรวจ สธ. เขตสุขภาพที่ 12 รับกังวลตามแนวชายแดนทางใต้ หลังมาเลเซียพบผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ สั่งตรวจหาสายพันธุ์ทั้งจากคนป่วยและศพ พร้อมวอนประชาชนช่วยสอดส่องคนแปลกหน้าเข้าพื้นที่

ไทยยังคงจับตาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอนที่พบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศ รวมถึงมาเลเซีย ส่วนไทยเข้าเดือนสุดท้ายของปีได้ไม่กี่วันยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งขึ้นจาก 4 พันกว่ามาเฉียด 5.9 พันคน

ติดเชื้อใหม่พุ่ง 5,896 คน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,896 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,757 คน จากเรือนจำ 1,127 คน มาจากต่างประเทศ 12 คน โดยมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และมอริเซียส ประเทศละ 1 คน มาจากโปแลนด์และเยอรมนี ประเทศละ 2 คน โดยทุกรายตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงไทย และมีทั้งมาในระบบ AQ กทม.เทสต์แอนด์โก สมุทรปราการ เทสต์แอนด์โก ภูเก็ต เทสต์แอนด์โก กทม. เทสต์แอนด์โก ชลบุรี และแซนด์บ็อกซ์ ภูเก็ต ส่วนที่เหลืออีก 5 คน ได้แก่ มาจากมาเลเซีย 1 คน กัมพูชา 3 คน มาทางด่านพรมแดนทางบก และมาจากเมียนมา ทางช่องทางธรรมชาติ 1 คน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน นับตั้งแต่ขึ้นเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,886 คน วันที่ 2 ธ.ค.พบเพิ่ม 4,971 คนและวันที่ 3 ธ.ค.พบเพิ่ม 4,912 คน รวมถึงยังพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำเพิ่มขึ้นหลักพันคนด้วย

กทม.แชมป์ป่วย-ตาย

ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 5,666 คน อยู่ระหว่าง รักษา 72,954 คน อาการหนัก 1,299 คน ใส่เครื่องช่วยหาย ใจ 330 คน เสียชีวิตเพิ่ม 37 คน เป็นชาย 21 คน หญิง 16 คน ผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 6 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,136,537 คน ยอดหายป่วยสะสม 2,042,666 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 20,917 คน โดย 10 อันดับ จังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ กทม. 892 คน นครศรีธรรมราช 396 คน สงขลา 325 คน สุราษฎร์ธานี 169 คน ชลบุรี 168 คน ปัตตานี 159 คน เชียงใหม่ 150 คน ยะลา 120 คน สมุทรปราการ 116 คน และปราจีนบุรี 94 คน ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมี 1 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย

เข็มแรกยังไม่ถึงร้อยละ 70

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ศบค.ระบุเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ฉีดได้เพิ่ม 250,909 โดส แยกเป็นเข็มแรก 107,512 ราย เข็มที่สอง 109,545 ราย และเข็มที่สาม 33,852 ราย รวมยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ทั้งสิ้น 94,531,157 โดส โดยแยกเป็นเข็มแรก รวม 48,840,463 ราย คิดเป็นร้อยละ 67.8 ของประชากร เข็มที่สองรวม 42,089,031 ราย คิดเป็นร้อยละ 58.4 ของประชากร และเข็มที่สาม รวม 3,601,663 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.0 ของประชากร

คาด 5 ธ.ค.ฉีดได้ 95 ล้านโดส

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในคนไทย ให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในวันที่ 5 ธ.ค.ว่า ขณะนี้ยอดการฉีดสะสมที่ 94 ล้านโดส คาดว่าวันที่ 5 ธ.ค.จะฉีดได้ถึง 95 ล้านโดส แม้จะไม่ถึงเป้าหมายแต่ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก

ยันไม่ได้บังคับฉีดวัคซีน

ส่วนกรณีการนัดรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิกรณีการบีบบังคับฉีดวัคซีนนั้น นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่าทราบแล้วจะต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจและยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นการบังคับ ยังเป็นความสมัครใจ แต่ขอให้ทุกคนเข้ามารับเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ตัวเองและคนรอบข้าง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีวัคซีนหลายแพลตฟอร์ม ดังนั้น การฉีดวัคซีนในแต่ละหน่วยบริการสามารถเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเลือกรับวัคซีนได้ตามความเหมาะสมของวัคซีนที่มี

คุมเข้มใต้ตรวจหาสายพันธุ์

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศมาเลเซียพบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในนักศึกษาที่เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่าจะหลุดรอดเข้ามาในไทยว่า ไทยมีระบบการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดต่อเนื่อง การเฝ้าระวังในส่วนของเขตสุขภาพ 12 ที่ประกอบด้วยสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีระบบการตรวจหาเชื้อและส่งไปถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา มีการสุ่มตรวจใน 4 กรณี คือ 1.หากพบการลักลอบเข้ามาแล้วติดเชื้อ 2.สุ่มจากการติดเชื้อในคลัสเตอร์ชุมชน 3.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และ 4.ตรวจหาสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต ที่ผ่านมามีการส่งตรวจหาสายพันธุ์ประมาณ 1,000 ตัวอย่างต่อเดือน

ห่วงลอบเข้าตามชายแดน

นพ.สุเทพกล่าวว่า ที่ด่านข้ามแดนมีการระวังมากขึ้น ตั้งแต่มี ศบค.ส่วนหน้า มีทหารมาช่วยที่ด่านมากขึ้น เราห่วงที่ลักลอบเข้ามามากกว่า อย่างที่เราเคยพบเบตา ที่ ต.เกาะสะท้อน จ.นราธิวาส เมื่อพบ ก็เร่งดำเนินมาตรการต่างๆทันที ถือว่าเราตรวจจับ ได้ค่อนข้างเร็ว ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่พบโอมิครอนในจังหวัดภาคใต้ เราไม่อยากให้ตื่นตระหนก ขณะเดียวกันก็มีทรัพยากรต่างๆเพียงพอในการตรวจ
หาเชื้อ มีมาตรการรองรับ หากพบโอมิครอนต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องตรวจ RT-PCR เท่านั้น และกักตัวอย่างน้อย 14 วัน แม้ยังไม่พบโอมิครอน แต่เราต้องเฝ้าระวังมาก ทุกคน ทำเต็มที่ แต่ที่ป้องกันยากสุดคือชายแดน แม้วางกำลังขนาดไหนก็ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมาเลเซียพบก็มีโอกาสหลุดเข้ามา เรามีระบบสุ่มตรวจหาสายพันธุ์ รวมถึงประชาชนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ ส่วนสถาน การณ์การติดเชื้อในภาคใต้ขณะนี้ดีขึ้น ภาพรวมทั้งเขตฯ 12 พบรายใหม่ไม่ถึงพันรายต่อวัน ขณะที่ พัทลุงกับตรังยังพบสูงเฉลี่ยวันละเกือบร้อยราย ส่วนนราธิวาสลดเหลือวันละ 30-40 ราย แต่สงขลายังพบวันละ 300 กว่าราย

ยันไม่ปกปิดหากพบโอมิครอน

ต่อมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์กรณีมีข่าวพบผู้ป่วยไทย เดินทางกลับจากประเทศในทวีปแอฟริกา ตรวจพบเชื้อโควิดและเป็นสายพันธุ์โอมิครอน เข้ารับการรักษาที่ รพ.บำราศนราดูร ว่า กรมวิทย์มีหน้าที่ตรวจหาสายพันธุ์โควิด ยังไม่มีรายงานว่าพบสายพันธุ์โอมิครอน หากพบสายพันธุ์นี้จะแถลงข่าวให้ประชาชนทราบแน่นอน ไม่ปิดบัง

เยอรมนีปลดไทยเสี่ยงสูง

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 ระบุว่า สหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนีได้นำรายชื่อประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศ ที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Area) มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2564 ส่งผลให้ผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ไม่ต้องลงทะเบียนการเดินทางเข้าสหพันธ์ฯ และไม่ต้องกักตัว อย่างไรก็ตาม ผู้เดินทางจากประเทศไทยมายังสหพันธ์ฯยังต้องแสดงหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ก่อนเดินทาง ได้แก่ ผลการตรวจเชื้อเป็นลบ แบบ PCR Test ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือ Antigen Test ไม่เกิน 48 ชม.หรือประวัติการป่วยจากการติดเชื้อ หรือหลักฐานการได้รับวัคซีนครบถ้วนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 14 วัน เฉพาะไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน รวมถึง ผู้ที่เคยหายป่วย และได้รับวัคซีน 1 ใน 4 ชนิดดังกล่าวแล้ว 1โดส นอกจากนี้ ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการเดินทางเข้าสหพันธ์ฯ เว้นแต่ผู้เดินทางที่เป็นพลเมืองหรือเป็นผู้มีถิ่นพำนัก หรือเป็นบุคคลในครอบครัวของพลเมืองหรือผู้มีถิ่นพำนักในประเทศสมาชิกอียูหรือเชงเกน หรือผู้เดินทางได้รับวัคซีนตามข้างต้นครบถ้วนแล้วไม่ต่ำกว่า 14 วัน ซึ่งรวมถึงผู้ที่เคยหายป่วย และได้รับวัคซีน 1 ใน 4 ชนิดดังกล่าวแล้ว 1 โดส เดินทางเข้าสหพันธ์ฯ ได้โดยไม่ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน

ประท้วงต้านบังคับฉีดวัคซีน

ส่วนที่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ถนนสีลม เมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกัน ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร หรือ หม่อมโจ้ นำกลุ่ม “แนวร่วมต่อต้านการบังคับฉีดวัคซีน (The Resistance THA) ร่วมเดินขบวนเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านนโยบายภาครัฐในการบังคับประชาชนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชูป้ายข้อความต่างๆ ที่สื่อถึงโทษของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 พร้อมภาพผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนจนเสียชีวิตและทุพพลภาพ ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาปักหลักปราศรัยหน้าประตูสองสวนลุมพินี เป็นที่น่าสังเกตว่าแกนนำและผู้เข้าร่วมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัยระหว่างชุมนุม มีการติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่ประตูสวนลุมข้อความว่า “ร่างกายเราคือสิทธิเสรีภาพของเราไม่ใช่บริษัทยา” ที่มีภาพชายถูกปืนจี้หัวขณะที่กำลังถูกฉีดยาประกอบ ทั้งนี้ ม.ล.รุ่งคุณกล่าวว่า การฉีดวัคซีนเป็นสิทธิในร่างกายเราที่จะยอมให้ใครนำอะไรเข้ามาใส่ตัวเราได้ ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียงและเห็นฉีดที่ไหนก็ระบาดที่นั่น แต่อะไรคือแรงจูงใจให้คนที่มีส่วนรับผิดชอบต้องผลักดัน ทั้งมีการตั้งเป้าจำนวนผู้ฉีดแต่บอกไม่บังคับ บริษัทยาได้ประโยชน์หรือไม่ พร้อมระบุด้วยว่าหมอและ รมว.สาธารณสุขรู้อยู่ว่าวัคซีนโควิด-19 ยังถือเป็นยาทดลอง ถูกคิดค้นและผลิตมาใช้กับมนุษย์ในเวลาแค่ 6 เดือน ยืนยันจะไม่ฉีด จากนั้นหม่อมโจ้นำมวลชนเดินไปที่หน้าสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ถนนวิทยุเพื่อยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศ ไทย เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียยุติการละเมิดสิทธิประชาชนในการรับวัคซีนโควิด-19

คลัสเตอร์หญิงท้องพบป่วยเพิ่ม

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เวลา 10.00 น.ที่บริเวณศาลากลางหมู่บ้านโนนสว่าง ม.4 ต.ศรีสำราญ อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ นายปัญญา ฤทธิ์ภู ผอ.รพ.สต.ศรีสำราญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ร่วมกับ อสม.ออกตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงของคลัสเตอร์หญิงตั้งครรภ์ใน ต.ศรีสำราญ กว่า 112 คน ด้วยการ สวอบ และส่งตรวจแบบละเอียด RT-PCR โดยคลัสเตอร์นี้พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา จากหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องแอดมิตเข้า รพ.พรเจริญ จากอาการเลือดออกในช่องคลอด และผลตรวจ ATK เป็นบวก ตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 จากนั้นมีการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสร่วมบ้านและเพื่อนบ้าน พบผู้ติดเชื้อรวม 26 คน ส่วนมากเป็นเด็กและผู้สูงอายุ และผลจากการตรวจเชิงรุกเพิ่มเติมในครั้งนี้พบผู้ติดเชื้ออีก 6 คน กระจายอยู่ใน 3 หมู่บ้านติดกัน รวมผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้ 32 คน

ห้ามไม่ฟังเปิดเรียนจนติดโควิด

ส่วนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดหน้าค่าย ภายในวัดหน้าค่าย หมู่ที่ 1 ต.ปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่เปิดเรียนทั้งที่ผู้ปกครอง นักเรียน และชาวบ้าน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จนเกิดติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนักเรียนเป็นคลัสเตอร์ฟันน้ำนมนั้น ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนางวรรณทนา เพชรดี อายุ 50 ปี ชาวบ้านในชุมชนว่า เดิมคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดหน้าค่ายมีมติยังไม่พร้อมเปิดเรียน ปลัด อบต.ปากคลองกลับมีคำสั่งว่าให้เปิดการเรียนการสอนตามปกติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ตอนนี้มีเด็กนักเรียน เด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ติดโควิด 8 คน และครู 1 คน จากนักเรียนทั้งหมด 35 คน ครู 3 คน และมีผู้ปกครองติดอีก 4 คน นักเรียนทั้งหมดมาจากลูกหลานชาวบ้านหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 6 ตำบลปากคลอง ตอนนี้มีผู้ปกครองและชาวบ้านกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกักตัวแล้วกว่า 30 ครัวเรือน และยังมีชาวบ้านทยอยติดเชื้อโควิดอีกเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนว่าจะหยุดยั้งตัดวงจรคลัสเตอร์ฟันน้ำนมนี้อย่างไร จนชาวบ้านหวาดผวา และได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิตอย่างมาก เช่นเดียวกับพระจตุรงค์ อตุโล พระลูกวัดวัดหน้าค่าย กล่าวว่า เจ้าอาวาสได้ออกคำสั่งไม่ให้พระสงฆ์ทั้งหมดออกไปบิณฑบาต เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ติดโควิด ถูกกักตัวจำนวนมากเช่นกัน

พกว่านนางกวักชวนคนฉีด

ขณะที่บรรยากาศการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายจังหวัดต่างงัดสารพัดวิธีมาเชิญชวน เช่นที่ รพ.คำพระ ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ นายประสิทธิ์ คำตัน ผอ.รพ.สต.คำพระ นำทีมออกให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึงบ้าน แต่ที่สร้างความน่าสนใจคือมีการนำเอาต้นว่านนางกวัก เชื่อกันว่าหากมีติดบ้านหรือติดตัวจะช่วยกวักเงินกวักทอง กวักความโชคดีเข้าหาตัว ดังนั้น ทีมฉีดวัคซีนของ รพ.สต.คำพระ จึงถือเอาเคล็ดนี้พกว่านติดรถไปด้วย แม้กระทั่งในขณะที่นั่งรถซาเล้งก็ยกเอากระถางว่านนางกวักติดรถไปด้วย ทำให้ชาวบ้านที่เห็นต่างสนใจและให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนเป็นอย่างดี

หมอนั่งซาเล้งลุยถึงบ้าน

ด้านนายอลงกรณ์ ศิริกุล ปลัด อ.ควนโดน จ.สตูล กล่าวว่า ขณะนี้นายอำเภอควนโดนเร่งให้ประชาชนชาว อ.ควนโดนได้รับวัคซีนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากเปิดจุดบริการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเจาะกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ ผู้พิการที่ไม่สามารถเดินทางออกมาได้ นำทีมแพทย์พร้อมชุดวัคซีนขี่รถซาเล้งเป็นขบวนออกตระเวนไปตามบ้านเรือนประชาชน รถซาเล้งจะสะดวกเนื่องจากถนนในหมู่บ้านชุมชนจะแคบ อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ไปในตัว ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น ผู้สูงอายุและผู้พิการต่างดีใจที่ทางเจ้าหน้าที่ลงมาฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน เพราะการนำผู้พิการไปฉีดตามสถานบริการค่อนข้างลำบาก เช่นเดียวกับที่ รพ.ย่านซื่อ ลงพื้นที่ ม.7 ต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน ตั้งจุดบริการบริเวณศาลาภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีชาวบ้านกลุ่มผู้ใหญ่ วัยรุ่นมารับบริการประปราย ซึ่งวัคซีนที่ฉีดนั้น ผู้ฉีดสามารถเลือกได้ กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ฉีดโมเดอร์นา โดยหาเพื่อนๆมาฉีดให้ได้ 14 คน ต่อ 1 ขวด

ตาบุญแนะสูงวัยฉีดกันโควิด

ส่วนกรณีตาบุญ อินทร์ช้าง อายุ 74 ปี ชาว บ.ดอนเสียด อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ที่จากเคยป่วยแขนขาอ่อนแรง แขนข้างขวากระตุก เดินลำบากใช้ไม้เท้าค้ำเดิน แต่กลับมาลุกขึ้นเดินได้หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ และขณะนี้ยังสามารถลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง ทั้งฟันฟืน หุงหาอาหาร ปั่นจักรยาน เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย ไม่ต้องใช้ไม้เท้าค้ำเดินเหมือนเก่า ตาบุญเปิดเผยว่า หลังฉีดเข็ม 2 แล้วไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ร่างกายยังแข็งแรงเหมือนเดิม สามารถปั่นจักรยานได้ ใช้แรงได้ หลังจากที่ทำไม่ได้มานาน ก่อนหน้านี้ก็ไปช่วยลูกหลานเกี่ยวข้าว ส่วนการฉีดเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นนั้น ยืนยันว่าไปฉีดอีกแน่นอน รอ รพ.สต.แจ้งมาว่าจะให้ฉีดตัวไหน คงจะไม่มีปัญหาอะไร และอยากขอเชิญชวนออกมาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ดูตนเป็นตัวอย่างจากที่เดินไม่ค่อยได้ เขียนหนังสือไม่ได้ ทุกวันนี้กลับมาเดินเองได้โดยไม่ใช้ไม้เท้า เขียนหนังสือก็ได้ แข็งแรง วิ่งได้

ฉีดเข็มกระตุ้นกัน “โอมิครอน”

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบ 40 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่สหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มอีกใน 6 รัฐ คือรัฐนิวเจอร์ซีย์ รัฐแมรีแลนด์ รัฐเนบราสกา รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐยูทาห์ และรัฐมิสซูรี ที่พบเป็นชาวเมืองเซนต์หลุยส์ มีประวัติเดินทางภายในประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวที่รัฐแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด ฮาวาย มินเนโซตา และนิวยอร์ก ด้าน ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว กล่าวว่าจากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงช่วยเพิ่มหน่วยความจำที่เรียกว่า บี เซลล์ และที เซลล์ สร้างโดยระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสด้วย

แอฟริกาใต้ติดโควิดพุ่ง 4 เท่า

ด้านสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแอฟริกาใต้เพิ่มถึง 16,055 คน เพิ่มขึ้นจาก 4,373 คน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.สูงขึ้นเกือบ 4 เท่าภายในช่วง 4 วัน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วเกิน 3 ล้านคนนับแต่เริ่มระบาด ยังระบุว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ “โอมิครอน” ผู้ป่วยใหม่บางรายเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนและติดเชื้อซ้ำด้วยโอมิครอน ขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 อย่างไรก็ตาม NICD ยังเผยว่าจนถึงขณะนี้มีการยืนยันเชื้อโอมิครอน แล้ว 183 คน จากการตรวจสอบทั้งหมด 249 คน เมื่อเดือน พ.ย. คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70-75 โดยขณะนี้กำลังเร่งการตรวจสอบหาเชื้อถึง 65,990 ตัวอย่างใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้ประกาศเตรียมระดมกำลังส่งทีมไปยังจังหวัดเคาเต็ง เป็นศูนย์กลางการระบาดของโอมิครอนในประเทศ เพื่อช่วยรับมือการแพร่ระบาดต่อไป

โสมขาวเจอโอมิครอนเพิ่ม

ส่วนที่เกาหลีใต้มีรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นประวัติการณ์ โดยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 5,352 คน และเสียชีวิต 70 ศพ มียอดสะสมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 467,907 คน และเสียชีวิต 3,809 ศพ นับตั้งแต่เริ่มการระบาด ขณะเดียวกันยังมีการยืนยันผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์ “โอมิครอน” เพิ่มอีก 3 คน รวมทั่วประเทศ 9 คน หลังจากที่พบครั้งแรกในคู่สามีภรรยาที่เดินทางกลับมาจากไนจีเรียเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เกาหลีใต้ต่อสู้กับการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. รัฐบาลหันมาใช้แผนการอยู่ร่วมกับโควิด-19 เมื่อมียอดผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 2,000 คน จนกลับมามีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 5,000 คน เป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้

บลิงค์โล่ง “ลิซ่า” หายดี

ขณะเดียวกัน บริษัท วายจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ต้นสังกัดของลลิษา มโนบาล หรือลิซ่า แบล็กพิงก์ ออกแถลงการณ์ประกาศข่าวดีให้แฟนๆชาวบลิงค์ทั่วโลกโล่งอกว่า ลิซ่าหายดีจากโควิด-19 แล้ว หลังลิซ่าตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา และกักตัวที่บ้านกับรักษาตามอาการ กระทั่งจากการตรวจร่างกายครั้งล่าสุด หน่วยงานด้านสุขภาพของเกาหลีมีคำวินิจฉัยว่าลิซ่าไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ไวรัสโควิด-19 อีกต่อไปและให้สิ้นสุดการกักตัวตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 4 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลี ต้นสังกัดยังระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้จีซูโรเซ่ และเจนนี่ สมาชิกแบล็กพิงก์คนอื่นๆ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว เนื่องจากทั้ง 3 คน ฉีดวัคซีนครบถ้วนกันมาเกิน 1 สัปดาห์แล้ว อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้ง 3 คน จะลดกิจกรรมต่างๆ ที่จัดภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด นอกเหนือจากกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ บริษัทยังขอบคุณแฟนๆทั่วโลกที่เป็นห่วงสมาชิกแบล็กพิงก์ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ด้วย