- รู้จัก “ทองคำบางสะพาน” ทองนพคุณ ของดีแห่ง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นทองคำที่ดีที่สุดในไทย
- ร่อนทองแบบวิถีโบราณ ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เลียง” พาไปพิสูจน์ยุค 2022 นักท่องเที่ยวร่อนแล้วได้ “ทอง” หรือไม่
- ปลายทางร่อนดินให้เป็นทอง “ศูนย์การเรียนรู้บ้านทองเม็ด” พร้อมแนะวิธีแปรรูปทอง สู่เครื่องประดับชิ้นงาม
หากพูดถึงของดี อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลายคนต้องนึกถึง “ทองบางสะพาน” ซึ่งเป็นทอง 99.99% และยังเป็นทองแห่งความเชื่อ นิยมนำมาพกติดตัวบูชา ซึ่งที่ผ่านมามีชาวบ้าน นักท่องเที่ยวร่อนทองแล้วได้ทองกลับมากันหลายคน แต่หากถามว่าไปแล้วจะได้ทองกลับมาทุกคนหรือไม่ เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะมีความเชื่อว่าทองคำบางสะพานนั้น เลือกเจ้าของ
ซึ่งเราจะพาไปหาคำตอบกันที่ ศูนย์การเรียนรู้การร่อนทอง “บ้านลุงเล็ก” คลองทอง หมู่ 6 บ้านป่าร่อน ต.ร่อนทอง ห่างจากถนนเพชรเกษมเส้นทางสายหลักประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกวัน
จากการสอบถาม นายกกฤษฎา หมวดน้อย หรือ ลุงเล็ก ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมอำเภอตำบลร่อนทอง ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ทองบางสะพานเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เกิดมาภายใต้แผ่นดิน คุณไปขุด ไปพบ ไปเจอตรงไหนก็สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ นำมาเคารพบูชา นำมาทำแหวน สร้อย สร้อยข้อมือ เป็นทองคำที่ดีที่สุดของประเทศไทย
“ทองบางสะพานเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ในอดีตประมาณเกือบ 200 ปี เวลาชาวบ้านไม่มีเงินใช้ จะแบกพลั่ว ถือ “เลียง” หรือเครื่องมือโบราณในการร่อนทองลงไปในคลองทอง ก็จะได้ทองคำขึ้นมาแล้วเอามาขาย นำไปซื้อข้าว ซื้อของ เมื่อใช้เงินตรงนั้นหมดก็จะคว้ากระป๋อง คว้าเลียง คว้าพลั่วลงไปในคลองขุมทรัพย์ ทำให้ไม่เดือดร้อน เพราะว่ามีขุมทรัพย์ที่เป็นทองคำบางสะพานอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน และนี่จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านนักขุดทอง”
ตำนาน…ทองคำบางสะพาน
ทองคำบางสะพาน มีหลักฐานในพงศาวดาร พระสมัยของพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ ใน พ.ศ.2289-2291 ได้มีการเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 2 พันคน มาร่อนทองที่บางสะพาน ได้ทองคำ 90 ชั่ง น้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือน้ำหนักทอง 3,600 บาท นำไปหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี นอกจากนี้ ในวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ได้กล่าวถึงการนำทองบางสะพานไปทำ “ดาบฟ้าฟื้น” ของขุนแผน ความตอนหนึ่งระบุว่า “เอาไม้ระงับสรรพยามาทำฝัก ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติ บางตะพาน” ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าบางสะพาน ดาบฟ้าฟื้นของของขุนแผนนั้น ถือเป็นดาบอันศักดิ์สิทธิ์คู่กายของขุนแผน ชี้ไปทางไหนข้าศึกก็จะพ่ายแพ้ทุกทิศทาง
นายกกฤษฎา กล่าวว่า คนที่จะมาร่อนทองบางสะพานจะต้องใช้ความพยายาม ความอดทนในการร่อน ไม่ต่างจากการตกปลา ถามว่าจะได้ทุกคนไหม หรือซื้อลอตเตอรี่ 100 คน จะถูกทั้ง 100 คนไหม เพราะฉะนั้นคนมาร่อนทอง 100 คน ก็อาจจะได้ไม่ถึง 100 คน
“กฎทองคำ จงให้กับคนที่สมควรให้ จงให้กับผู้ที่ให้คืน จงไหว้เทวดา และจงบูชาไฟ เทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา นอกจากไหว้พระขอพรแล้ว ยังไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ คุณต้องมาไหว้ “หลวงพ่อตาหมวก” ที่บริเวณ ถ้ำตาหมวก เพื่อขอทองจากท่านก่อน เหมือนกับปู่โสมที่เฝ้าทองคำ”
คนที่สนใจมาร่อนทองสามารถติดต่อมาที่ ศูนย์การเรียนรู้การร่อนทอง จะมีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ และมีอุปกรณ์ที่ทางศูนย์จัดเตรียมไว้ให้เช่า ได้แก่ พลั่ว เลียง กระป๋อง กะลา ข้อสำคัญ ค่าเช่า 100 บาทเท่ากันหมด หรือโทรสอบถามได้ที่ ท่ารถเกาะยายฉิม หมายเลขโทรศัพท์ 081-378-8258 ไฮไลต์คือถ้าได้ทอง คุณก็สามารถนำทองที่คุณได้กลับบ้านไปทันที เพราะเขาถือว่าเป็นของขวัญที่ธรรมชาติให้กับคุณ
สำหรับการร่องทอง เริ่มจากขุดดินจากกอง ที่อยู่ข้างคลองแล้วนำดินใส่ถัง หิ้วไปส่งให้คนที่อยู่ไม้สอง ไม้สองก็เทจะดินใส่เลียงให้ไม้สาม ไม้สามก็เริ่มขยำ เหมือนคั้นกะทิ เอาหินก้อนใหญ่ออกก่อน เพราะทองจะไม่อยู่กับหินก้อนใหญ่แน่นอน จากนั้นกวาดหินออกไป พอหินเริ่มหมดก็เริ่มร่อน โดยนำน้ำเข้ามา เอาทรายออกไป น้ำเข้า ทรายออก น้ำเข้า ทรายออก เป็นภูมิปัญาของชาวบ้านตั้งแต่อดีต หลังจากทรายออกไปแล้ว หากมีทองก็จะเหลืออยู่ก้นเลียงให้เราได้ชื่นใจ
ศูนย์การเรียนรู้บ้านทองเม็ด ปลายน้ำร่อนดินให้เป็นทอง
นายจิรฐกรณ์ อิสระพานิชย์ ศูนย์การเรียนรู้บ้านทองเม็ด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้บ้านทองเม็ด ที่ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการร่อนทองทั้งหมดแล้วเก็บเป็นบันทึกเอาไว้ โดยกระบวนการในการหาทองจะมีทั้งหมด 4 แบบ คือ ร่อนทองในคลองทอง แบบขุดในบ่อเป็นหลุมลงไป แบบดำน้ำหาทอง และแบบทำเหมือง ที่บางสะพานจะมีอยู่ประมาณสัก 4 แบบ ที่ชาวบ้านยังทำอยู่ การขุดแบบบ่อหรือการทำเหมือง จะได้เป็นทองเม็ดเป็นก้อนใหญ่
สำหรับทองคำที่นำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับเป็นทองดิบ มีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ ทองผง ทองเกล็ด ทองเม็ด และ ทองอมหิน ซึ่งเราอยากจะทำให้ลูกค้าใส่ได้หลายๆ รูปแบบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ทองบางสะพานจะได้กว้างขึ้น ลูกค้าเองก็จะได้พกติดตัวไว้ เพราะทองนี้เป็นทองความเชื่อ เชื่อว่ามีแล้วจะให้โชคให้ลาภ ค้าขายดี ป้องกันสิ่งไม่ดีได้
“ทองบางสะพานเป็นทองที่เรียกว่า Gold Nugget หรือ gold mine ที่เปอร์เซ็นต์ทองเยอะที่สุดในโลก ได้มาจากกระบวนการร่อนทอง จะเอามาแปรรูปเป็นแหวน แล้วก็เป็นสร้อย นี่เป็นงานที่เราใช้ทองผงบางสะพานล้วนในการทำ สีของทองค่อนข้างสวย เป็นสีทองดอกบวบ เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ทอง 99 เปอร์เซ็นต์ จะแตกต่างจากเยาวราชซึ่งเป็นทอง 96.5 เปอร์เซ็นต์”
สำหรับ “ทองเกล็ด” จะนำมาแปรรูปใส่เป็นตะกรุด หรือจะเอามาขึ้นรูปเป็นรูปอะไรก็แล้วแต่ ที่เราจินตนาการ เป็นรูปหัวใจ เป็นรูปถุงทอง นี่จะเป็นงานเกล็ดทอง ส่วน “ทองเม็ด” จะเอามาเลี่ยมใส่กรอบเพชร หรือว่าทำเป็นเขี้ยวเสือ หรือว่าแล้วแต่ลูกค้าอยากได้แบบไหน ซึ่งเรามีทั้งแหวน สร้อย กำไล ต่างหู จี้ ซึ่งเราเอามาแปรรูปให้ตรงกับที่ลูกค้าเขาสนใจ
ส่วน “ทองอมหิน” ตนเรียกเขาว่า ทองสามกษัตริย์ ส่วนใหญ่ที่ได้มาจะเอามาเลี่ยม ซึ่งก็ค่อนข้างจะหายาก ผมเรียกเขาว่า ทองสามกษัตริย์ กระบวนการในการร่อนทอง เนื่องจากทำมา 300 กว่าปีแล้ว ขุดแล้วขุดอีก ดังนั้นส่วนใหญ่ที่ได้จากการร่อนทองจะได้ทองผง หรือทองเกล็ด นอกจากจะโชคดีมากๆ
วิธีดูทองคำบางสะพาน
นายจิรฐกรณ์ กล่าวอีกว่า ทองบางสะพานที่หาได้ จะเอาทองไปเผาไฟเลย เผาไฟแล้วก็หลอมออกมาเป็นทองแท่ง แล้วก็ตีเป็นแหวน สร้อย กำไล ส่วนวิธีการเช็กว่าเป็นทองบางสะพานแท้หรือไม่แท้ จะมีวิธีการดูหลายแบบ เช่น การเผาไฟ, เช็กด้วยหยกขาว นำมาขัดทอง ถ้าเป็นทองที่เปอร์เซ็นต์สูงๆ มันก็จะเงาแล้วสุกขึ้น เนื่องจากเป็นทองเปอร์เซ็นต์สูง แต่ถ้าเป็นทองเปอร์เซ็นต์ต่ำจะไม่ขึ้นวาว
นอกจากนี้ยังใช้วิธีดูทางกายภาพ ดูหินดูแร่ ในศูนย์การเรียนรู้เรามีกล้องจุลทรรศน์ที่เอาไว้ขยายเพื่อตรวจสอบว่าเป็นทองแท้ไม่แท้
“ทองบางสะพานเป็นทองความเชื่อ ผมทำมา 7 ปี เราพยายามหาบันทึก พยายามหาเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่น ยกตัวอย่างเครื่องประทับต่างๆ แม้กระทั่งการสร้างพระก็จะมีทองบางสะพานเข้าไปติดอยู่ในองค์พระ แล้วเราก็เอามาใช้เอง แล้วปรากฏว่ามันเกิดสิ่งที่ดีๆ กับตัว เราก็อยากจะบอกต่อ ถ้าเราคิดย้อนกลับไปว่า ในการเกิดชั้นทองคำ ในการเกิดทองคำจะต้องอยู่ในชั้นหินดาน หรือว่าชั้นดาน ซึ่งชั้นนี้อายุของเขาประมาณ 8,000-1 หมื่นปี
ดังนั้นทองเม็ด ทองผง ทองเกล็ดก็แล้วแต่ บอกได้ว่าแทบจะเป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งเราสามารถตรวจสอบอายุของมันได้ มันอาจจะกลายเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่านี้ก็ได้”
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Anon Chantanant