“วิลาศ” นำทีมบุกสภา ค้าน กก.ตรวจรับงาน 100% ด้าน “วัชระ” แฉผิดสัญญาเพียบทั้งไม้สอดไส้ ต้นไม้ตาย 347 ต้น ชี้ เสาไม้สัก 2.4 พันต้นขึ้นราไร้การดูแลรักษา พาสื่อออนทัวร์จุดผิดสเปกเพียบ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.ร่วมยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เรื่อง ขอคัดค้านการตรวจรับงานแล้วเสร็จ 100% ของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ของคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ฉบับที่ 1
โดยนายวัชระ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2556 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ลงนามสัญญาเลขที่ 116/2556 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ จำนวน 12,280 ล้านบาท กำหนดเวลาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งจนถึงวันนี้ (4 ก.ค. 2565) รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3,353 วัน แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญานั้น จึงขอคัดค้านคณะกรรมการตรวจการจ้างในการตรวจรับงานแล้วเสร็จโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า การก่อสร้างดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามข้อกำหนดในสัญญา
นายวัชระ กล่าวว่า อีกทั้งยังปรากฏโดยมีหลักฐานปรากฏว่า มีการใช้ชนิดของวัสดุไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาและไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของผู้ออกแบบ เช่น ต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบการฟื้นตัวและอยู่รอดของต้นไม้ได้ เพราะต้นไม้เหล่านั้นได้ตายไปก่อนการตรวจสอบ อันส่งผลถึงระยะเวลา 240 วัน ของข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว ที่มีเพื่อตรวจการฟื้นตัวและการอยู่รอดของต้นไม้ จึงยังไม่เริ่มนับ เพราะไม่มีต้นไม้ที่อยู่รอดให้นับระยะเวลาเหล่านั้น ทำให้ถือว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ หรือพื้นไม้กระดานที่กำหนดว่าต้องใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่มีการสอดไส้ใช้ไม้อื่นด้วยจำนวนมาก หากคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ รับมอบงานแล้วเสร็จในวันนี้ วันพรุ่งที่ 5 ก.ค.นี้ ตนจะยื่นเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนบุคคลที่ลงมติเห็นชอบทุกคนต่อไปโดยไม่ละเว้น
ด้านนายวิลาศ กล่าวว่า ที่สำคัญต้นไม้สัก ที่ประดับโดยรอบอาคารรัฐสภาใหม่จำนวน 4,200 ต้น พบเบื้องต้นว่า กว่า 2,400 ต้น มีเชื้อราขึ้นที่โคนเสาแทบทุกต้น และมีจำนวนมากที่เสาไม้สักเนื้อไม้แตก เพราะอบไล่ความชื้นมาไม่ได้ที่ และไม่ได้ทาน้ำมันเคลือบเพื่อรักษาเนื้อไม้ ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนของพื้นอาคารยังใช้ไม้ผิดประเภทจากข้อกำหนดที่ต้องใช้ไม้ตะเคียนทอง แต่ใช้ไม้พะยอม หรือไม้ชนิดอื่นๆ แทน และแผ่นไม้ปูพื้นต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร ยกเว้นกรณีจำเป็น ประตูห้องกรรมาธิการไม่กันเสียง 65 ห้อง ผนังห้องประชุมกรรมาธิการไม่กันเสียง 148 ห้อง และหินทราโวทีน มีขนาดต่ำกว่าข้อกำหนด ต้นไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นตายถึง 347 ต้น และไม่มีการปลูกทดแทน รวมทั้งต้นไม้ขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น สุดท้ายคือ การส่งมอบงานครั้งนี้จะมีการตรวจสอบงานนาน จึงอยากให้ใช้ช่วงเวลานี้ซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหา ถ้าสภาฯ ยอมให้ทำ ถือว่าสภาฯ ต้องรับผิดชอบ ตนไม่ติดใจผู้รับจ้างเพราะมีสิทธิทำธุรกิจก็ต้องทำกำไรทุกวิถีทาง แต่สภาฯ ต้องทำตามระเบียบการส่งมอบ
จากนั้นนายวิลาศ พร้อมคณะ ได้พาสื่อมวลชน เดินสำรวจจุดบกพร่องต่างๆ ของโครงการก่อสร้างบริเวณชั้น 1 ตามที่ระบุไว้ในเรื่องร้องเรียน เช่น ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ยืนต้นตายและถูกตัดออก เหลือแต่ตอไม้ โดยนายวิลาศ กล่าวว่า การจะนำต้นไม้ใหญ่มาปลูกใหม่ เป็นไปได้ยากแล้ว เพราะต้องขนยกข้ามตัวอาคาร ส่วนพื้นอาคารที่เป็นไม้ตะเคียนทองก็มีผสม ทั้ง ไม้ตะเคียนหิน ตะเคียนหย่อง โดยเฉพาะตง ( คานรองรับไม้กระดาน) ที่อยู่ด้านล่างไม้กระดาน ตามสัญญาต้องเป็นไม้ตะเคียนทอง แต่เท่าที่ตรวจสอบพบกว่า 80% ใช้ไม้อื่นแทนทั้งหมด และเสาไม้สักขึ้นรา รวมทั้งฝ้าอะลูมิเนียมที่นายวัชระ ออกมาเปิดเผยว่า ถูกพายุฝนพัดจนหลุดลงมาเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ซี่งขณะนี้ได้มีการซ่อมแซมแล้ว เพื่อให้เห็นภาพว่า เป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงและซ่อมแซมอย่างแท้จริง หากคณะกรรมการตรวจรับฯ ที่กำลังประชุมจะนับงานตามที่บริษัทเอกชนบอกงานเสร็จสิ้นครบ 100% แล้ว ก็เจอกันที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพราะทุกเรื่องที่กล่าวมา ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนแจ้งต่อเลขาฯ สภาฯ ไว้แล้วทั้งหมด นี่เป็นแค่ภาค 1 ตนยังเกาะติดเรื่องนี้ต่อ เพราะรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้าน มีการแก้แบบ เพิ่มแบบ เพิ่มวงเงินปรับปรุงจำนวนมาก ล้วนมาจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นงบฯ แผ่นดินจะมาใช้จ่ายเช่นนี้ ผิดจากสัญญาไม่ได้
ขณะที่นายสมบูรณ์ กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ตนยังรับเงินจากสภาฯ ขอเตือนบรรดาข้าราชการสภา และคณะกรรมการ ตรวจรับงานฯ ว่า อย่ารับใช้ฝ่ายการเมือง จนตัวเองต้องเดือดร้อน หากตรวจรับงาน ทั้งที่ยังบกพร่องก็มีตัวอย่างให้เห็นมากแล้วว่าเป็นอย่างไร ขอให้ทำหน้าที่ข้าราชการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ของแผ่นดินจะดีกว่า
ทั้งนี้ ระหว่างที่คณะของนายวิลาศ นำสื่อดูจุดบกพร่องที่ผิดสัญญาก่อสร้าง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย สภาฯ เดินติดตามคณะนายวิลาศ และถ่ายภาพตลอดทุกจุดเช่นกัน