ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ย.) ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเริ่มนับตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ได้จนถึงปี 2568
“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐธรรมนูญของรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่มาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่รัฐธรรมนูญนี้เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2560 ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติระบุว่าให้นับย้อนหลังได้ การบังคับใช้รัฐธรรมนูญส่วนนี้จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องเริ่มตามวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
ส่วนประเด็นที่มีผู้ยกบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 มาอธิบายว่า เจตนารมณ์ของการจำกัดวาระนายกรัฐมนตรีไว้เพียง 8 ปี นั้น เป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเกิดขึ้นหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อปี 2560
วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกจำกัดเอาไว้ที่ 8 ปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ทำให้เมื่อช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้พูดถึงการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างหนาหูว่าจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 ส.ค. หรือไม่ กระทั่งมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติรับคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัย และออกคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ทำให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการแทน
อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายวันก่อนวันที่ 24 ส.ค. ผู้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่างพูดถึงประเด็นนี้พร้อมติดแฮชแท็ก #นายกเถื่อน บางส่วนยังกล่าวถึงขั้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรก เพราะมาจากรัฐประหารไม่ใช่มติมหาชน