“สมศักดิ์” ชี้ต้องมีงานวิจัย-สร้างนวัตกรรมใหม่ต่อยอด “พืชกระท่อม” หวังแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่สูงถึง 1.459 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการประชุมเชิงนโยบายเรื่อง “กระท่อม” จากยาเสพติดสู่พืชถูกกฎหมาย โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวบรรยายหัวข้อ อนาคตพืชกระท่อมหลัง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ตอนหนึ่งว่า การปลดล็อกพืชกระท่อมต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาส เราต้องมีแนวทาง เป้าหมายการปลูกความเหมาะสมของปริมาณอย่างชัดเจน พืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อเคี้ยวแทนสำหรับผู้ที่ติดฝิ่น และพืชกระท่อมไม่ได้ติดสัญญาบัญชียาเสพติดระหว่างประเทศ ทำให้เราปลดล็อกได้ง่ายกว่ากัญชงและกัญชาที่ติดอยู่ในบัญชี ถ้ามองถึงตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจนั้น พืชกระท่อมขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท 1 ต้นจะเก็บเกี่ยวใบได้ประมาณ 216 กิโลกรัมต่อปี หากปลูกบ้านละ 3 ต้น จะได้ปีละ 648 กิโลกรัม หากตีเป็นเงินจะได้ประมาณ 194,000 บาทต่อปี และหากปลูก 1 ไร่จะได้ประมาณ 25 ต้น ผลผลิต 5,400 กิโลกรัม เป็นเงินประมาณ 1,620,000 บาท
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลาดโลกที่รับซื้อใบกระท่อมในขณะนี้ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการมากถึง 10,000 ตัน โดนเน้นการขายกันทางออนไลน์ โดยหากทำเป็นผงจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000-8,000 บาท โดยมีประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย ที่มีส่วนแบ่งทางตลาดมากถึง 95% สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีการปลูกถูกกฎหมาย 135 หมู่บ้าน ถือว่าปริมาณยังน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ดังนั้นการที่ผู้คนบอกว่าการกออกกฎหมายให้ขออนุญาตการส่งออกเป็นการกีดกันการค้านั้น ตรงนี้ไม่ใช่เพราะเรายังปลูกได้ไม่กี่เปอร์เซ็นของความต้องการตลาด ดังนั้นเราก็ต้องมาคิดว่าเราจะแบ่งตลาดกับอินโดนีเซียได้อย่างไรบ้าง ตลาดทางยุโรปหรือที่อื่นมีที่ไหนต้องการ เราจะพัฒนาการปลูกให้เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างไร
“ขณะนี้พืชกระท่อมสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น อาหาาร ยารักษาโรค อาหารเสริม เวชสำอางค์ ซึ่งมีมูลค่ารวมในตลาดมากถึง 1.459 ล้านล้านบาท ดังนั้นการปลูกพืชกระท่อม หากไม่มีการสร้างนวัตกรรม แห่กันปลูกเหมือนพืชอื่นๆจะทำให้ราคาตกต่ำ จากราคากิโลกรัมละ 300 บาท อาจจะเหลือแค่ 20-30 บาทเท่านั้น เราไม่อยากให้กระท่อมออกมารูปแบบนี้ แต่หากเรามีนวัตกรรมใหม่ๆมีการสร้างงานวิจัย จะเพิ่มมูลค่าของพืชได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างงานวิจัยต่างๆออกมาอย่างเร่งด่วน” นายสมศักดิ์ กล่าว