- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ สั่งอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงกลาโหมกัมพูชา 2 คน จากข้อกล่าวหาการทุจริต รับผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับฐานทัพเรือเรียม ในจังหวัดพระสีหนุ ส่งผลให้ทางการกัมพูชาออกมาตอบโต้รุนแรง ว่าสหรัฐฯ ดูหมิ่นอธิปไตย และแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา
- เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กัมพูชายืนยันว่าได้มีการรื้อถอนอาคารที่สร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ ที่ฐานทัพเรือเรียม ของกัมพูชา โดยบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงฐานทัพเรือ และยอมรับว่าได้ให้จีนเข้าไปช่วยปรับภูมิทัศน์แทน ท่ามกลางความวิตกกังวลของสหรัฐฯ ว่าจีนจะเข้าไปตั้งฐานทัพที่ฐานทัพเรือกัมพูชาแห่งนี้
- รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า กำลังเตรียมทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้าที่ให้แก่กัมพูชา ในฐานะที่กัมพูชายังไม่สามารถแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน องค์การอาชญากรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ดีขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณร้ายแรง สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และกัมพูชาที่แย่ลง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และกัมพูชา เริ่มมีความบาดหมางรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางด้านการทหารของจีนเหนือกัมพูชา ล่าสุดยิ่งเกิดความตึงเครียดจากข้อกล่าวหาของทางการสหรัฐฯ ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา 2 คน มีพฤติกรรมทุจริตทางการเงิน ทำให้กัมพูชาออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง
โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศว่า ได้อายัดทรัพย์สินและยุติการทำธุรกรรมกับพล.อ.เจา พิรุณ หัวหน้ากรมใหญ่เทคนิคและพลาธิการ กระทรวงกลาโหม และพล.ร.อ.เตีย วิญ ผู้บัญชาการทหารเรือ สองเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา หลังจากพบว่าทั้งคู่มีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับฐานทัพเรือเรียม โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ สมคบคิดกันเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ฐานทัพเรือ แล้วนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาออกมาตอบโต้ทันควันว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ไม่มีมูลแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อบุคคลของทางการกัมพูชา ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ดูหมิ่นต่ออธิปไตยกัมพูชา โดยมีแรงจูงใจทางการเมือง และจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ย้อนดูปมบริหารจัดการฐานทัพเรือเรียมในอ่าวไทย
ฐานทัพเรือเรียม ของกัมพูชา ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ตั้งอยู่ในเมืองเรียม จังหวัดพระสีหนุ หรือที่เรียกว่าเมืองสีหนุวิลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ บริเวณริมฝั่งอ่าวไทย เป็นจุดที่สามารถเข้าถึงทะเลจีนใต้
ในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เคยเข้าไปช่วยกัมพูชาสร้างสิ่งปลูกสร้างอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมากัมพูชารื้อถอนอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สหรัฐฯ สร้างไว้ ปฏิเสธไม่ให้สหรัฐฯ เข้าไปช่วยพัฒนาซ่อมแซมต่อ แล้วเปลี่ยนไปทำสัญญารับความช่วยเหลือจากจีนแทน มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมา
จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่าจีนกำลังมีการก่อสร้างอาคารใหม่ 2 หลังที่ฐานทัพเรือแห่งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานขององค์กรริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์ และการศึกษานานาชาติในวอชิงตัน ที่ระบุว่า จีนกำลังผลักดันข้อตกลงใหม่ทำให้สหรัฐฯ เกิดความวิตกกังวลว่าจีนจะเข้าไปตั้งฐานทัพที่นั่น และยิ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อปีที่แล้ว ที่ให้จับตาร่างข้อตกลงลับที่กัมพูชาอนุญาตให้จีนเข้าไปจอดเทียบท่าเรือรบที่ฐานทัพเรือเรียม
ด้านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน จะออกมากล่าวย้ำหลายครั้งว่า กัมพูชาต้อนรับเรือรบจากทุกประเทศให้เข้ามาจอดเทียบท่าที่ฐานทัพเรือเรียมได้โดยเท่าเทียมกันทั้งหมด และจะยึดถือตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้อภิสิทธิ์ทหารจีนมาอยู่ที่ฐานทัพแห่งนี้ และจะไม่มีกองทัพประเทศใดตั้งฐานทัพภายในดินแดนของกัมพูชา
ผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้า
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์ด้านการคอร์รัปชัน องค์การอาชญากรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา พบว่า รัฐบาลกัมพูชายังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนจะเข้าไปทำกิจกรรมทางการเงินในตลาดอสังหาริมทรัพย์ กาสิโน และภาคส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชา
สหรัฐฯ ยังได้มีข้อเสนอแนะทางด้านธุรกิจแก่บรรดานักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในกัมพูชาว่า ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากกัมพูชามีการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในกัมพูชา มีแก๊งอาชญากร และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย และปัญหาต่างๆ เหล่านี้คุกคามผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ตลอดจนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชาวกัมพูชา พร้อมเตือนบรรดาบริษัทสัญชาติอเมริกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือพัวพันกับบริษัทกัมพูชาที่ทำธุรกิจค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ป่า และค้ายาเสพติด
โดยบอกว่ากำลังจะทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้าที่ปัจจุบันมีให้แก่กัมพูชา ซึ่งจะทำให้กัมพูชาซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้ากับสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สุดอันดับสองของกัมพูชา ก็เพิ่งประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อกัมพูชา อันเนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยเมื่อปี 2563 มูลค่าการส่งออกโดยรวมของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้คิดเป็นการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 23% ปีต่อปี
การทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้าที่สหรัฐฯ แจ้งต่อกัมพูชานี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณล่าสุดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และกัมพูชาที่แย่ลง ขณะที่ในช่วงสองสามปีมานี้กัมพูชามีความสนิทสนมกับจีนมากขึ้น
จับตากัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน
เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กัมพูชารับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนในปี 2565 ซึ่งหลายฝ่ายมองได้ว่าอาจเป็นโอกาสดีที่สหรัฐฯ จะใช้ช่องทางการทูตกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงความโปร่งใสด้านความสัมพันธ์กับจีน ขณะที่มีความเป็นไปได้เช่นกันที่กัมพูชาจะใช้ประโยช์จากตำแหน่งนี้ช่วยเอื้อผลประโยชน์ให้กับจีนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เหมือนเมื่อครั้งที่กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนเมื่อปี 2555 ก็ได้ขัดขวางอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมตำหนิจีนที่กำลังมีข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม ในการครอบครองสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
มาในครั้งนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน น่าจะโดนกดดันมากขึ้นในกรณีการรับผลประโยชน์ต่างๆ จากการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน และการเผชิญหน้ากับรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เมื่อปี 2560 ที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เชื่อว่าสหรัฐฯ แอบสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านวางแผนล้มล้างรัฐบาล แม้จะไม่มีการกล่าวอ้างหลักฐาน แต่ก็แสดงให้เห็นท่าทีว่ารัฐบาลกัมพูชาเริ่มไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐฯ มีการระงับปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ และหันมาเปิดปฏิบัติการฝึกซ้อมทางการทหารกับกองทัพจีนแทน.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : Nikkei Asia, KhmerTimes