ไฟป่า ไฟฟ้าดับ และโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายกับสายฟ้าฟาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 24,000 คนต่อปีทั่วโลก ฟ้าผ่านับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด การปล่อยไฟฟ้าสถิตอย่างฉับพลันหลายล้านโวลต์และหลายแสนแอมแปร์ ทำให้มองเห็นสายฟ้าผ่าลงมาจากเมฆก้อนเดียวลงมาพื้นดิน ทั้งนี้ เสานำไฟฟ้าปลายแหลมที่ทำจากโลหะเชื่อมต่อกับพื้นดิน หรือเรียกว่าสายล่อฟ้าที่เป็นผลงานของนักประดิษฐ์นาม เบนจามิน แฟรงคลิน แม้จะเป็นรูปแบบการป้องกันฟ้าผ่าที่ดีที่สุดจากอดีต ทว่าเสาเหล่านี้ไม่ได้ให้การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับพื้นที่ที่ละเอียดอ่อนในทุกวันนี้ เช่น สนามบิน ฟาร์มกังหันลม หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เสมอไป
ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยเจนีวา สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสโลซาน ในสวิตเซอร์แลนด์, สถาบันเอกอล โพลีเทคนิค ในฝรั่งเศส และบริษัท TRUMPF scientific lasers ในเยอรมนี ได้พัฒนาวิธีป้องกันสายฟ้าฟาดด้วยอุปกรณ์ Laser Lightning Rod (LLR) ที่จะนำสายฟ้าไปตามลำแสง เมื่อสัญญาณทางไฟฟ้ากำลังสูงมากถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ เส้นใยของแสงที่มีความเข้มมากจะก่อตัวขึ้นภายในลำแสงเลเซอร์ เส้นใยเหล่านี้ทำให้โมเลกุลของไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศแตกตัวเป็นไอออน และจะปล่อยอิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ โดยอากาศที่แตกตัวเป็นไอออนนี้เรียกว่า พลาสมา ซึ่งกลายเป็นตัวนำไฟฟ้านั่นเอง
ทีมวิจัยระบุว่า ประสบความสำเร็จในการใช้เลเซอร์เล็งไปที่ท้องฟ้าจากบนยอดเขาเซนติส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเบี่ยงเบนสายฟ้าฟาด และวิธีดังกล่าวสามารถหักเหสายฟ้าได้ไกลหลายสิบเมตรแม้ในสภาพอากาศเลวร้าย.