แห่อาลัย “อ.ทองร่วง เอมโอษฐ’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ศิลปินปูนปั้นฝีมือยอดเยี่ยม เมืองเพชรบุรี จากไปในวัย 80 ปี
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บัญชี Facebook ธานินทร์ ชื่นใจ ของ อ.ธานิทน์ ชื่นใจ ครูช่างลายรดน้ำ โพสต์ข้อความไว้อาลัยต่อการจากไปของ อ.ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ จ.เพชรบุรี ระบุว่า “๑๓ เมษายน ๒๕๖๖ วันขึ้นปีใหม่ไทย..ใจหาย เนื่องการจากไป…ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ อายุ ๘๐ ปี ขอให้ท่านไปสู่สุคติภพ สวงสรรค์ชั้นฟ้าเทอญ…มรณะเวลา 00.15 น”
สำหรับประวัติ อ.ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น) เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2486 ที่ต.บางกระบือ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2 ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสําลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน
อ.ทองร่วง เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดโคก และวัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคม
โดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยนอกจากนี้ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่าง ๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้น ๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับสังคม ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทย
ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เฟซบุ๊ก “อ.ธานินทร์ ชื่นใจ”