หมอธีระ อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 พบสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 สัดส่วนการตรวจพบเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 22 เมษายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 22 เมษายน 2566 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 56,942 คน ตายเพิ่ม 281 คน รวมแล้วติดไป 686,317,328 คน เสียชีวิตรวม 6,858,960 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.8 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.05
อัปเดต XBB.1.16 จาก WHO
องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานประเมินความเสี่ยงของ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 วันที่ 17 เมษายน 2566 หลายประเทศมีการรายงานว่า XBB.1.16 มีสัดส่วนการตรวจพบมากขึ้น แต่ข้อมูลปัจจุบัน ประเมินว่าความเสี่ยงในระดับโลกยังต่ำ เนื่องจากสมรรถนะการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และระดับความรุนแรงของโรคจาก XBB.1.16 ยังพอๆ กับเชื้อที่ระบาดอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทำให้จำนวนเคสเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ ได้ และอาจครองสัดส่วนหลักในการระบาดของบางประเทศ เพราะสมรรถนะการแพร่ที่สูงและระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลกได้จัด XBB.1.16 ไว้ในกลุ่ม Variants of Interest (VOI) คู่กับ XBB.1.5 ในขณะที่อีก 6 สายพันธุ์ย่อยจะอยู่ในกลุ่ม Variants under Monitoring (VUM)
ผลประเมิน XBB.1.16 จากทีมมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
เมื่อคืนนี้ Cao YR ได้เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาสมรรถนะของ XBB.1.16 พบว่าระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ XBB.1.16 นั้นพอๆ กับ XBB.1.5 (สอดคล้องกับผลการศึกษาจากทีมมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ออกมาก่อนหน้านี้)
นอกจากนี้ยังพบว่า สมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ ก็พอๆ กันเช่นกัน ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่จับตามองด้วยอย่าง XBB.1.5.10 ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมาคือ F456L นั้นจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า โดยมีสมรรถนะในการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ลดลง
ทาง Cao YR ได้ตั้งสมมติฐานว่า การกลายพันธุ์ของ XBB.1.16 ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ K478 นั้น น่าจะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าแล้วมาติดซ้ำตอน Omicron หรือคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron แบบซ้ำๆ ก็ตาม
ผลกระทบต่อความคิดความจำหลังติดเชื้อโควิด-19
Herrera E และคณะจากประเทศสเปน เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports เมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา ศึกษาในกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ Post-COVID syndrome (Long COVID) ขององค์การอนามัยโลก จำนวน 214 คน อายุตั้งแต่ 26-64 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (85%)
ชี้ให้เห็นว่า คนอายุน้อยจะมีปัญหาด้านความคิดความจำหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนสูงอายุ
ข้อมูลต่างๆ ข้างต้น ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
สถานการณ์ไทยเราตอนนี้ รอบตัวมีการติดเชื้อกันมากขึ้นชัดเจน ควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาทระวังการแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก