หมอธีระ เตือนคนติดโควิดแล้วอย่าย่ามใจ โควิดระลอกโอมิครอนมีอัตราติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าเดลตาถึง 10 เท่า
วันที่ 2 เมษายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า 2 เมษายน 2565 ทะลุ 489 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,225,510 คน ตายเพิ่ม 3,578 คน รวมแล้วติดไปรวม 489,523,949 คน เสียชีวิตรวม 6,170,351 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.21 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.81
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.22 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 27.69
สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
ภาพที่ 1 และ 2 แสดงจำนวนการติดเชื้อใหม่ของไทยจากข้อมูลของ Ourworldindata จะเห็นได้ว่ากราฟการระบาดของเราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ยกเว้นทวีปยุโรปที่ตอนนี้ระบาดกลับซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักรที่อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อในประชากรสูงกว่าระลอก BA.1 ที่ผ่านมาแล้ว (ภาพที่ 3) อันเนื่องมาจากเปิดเสรีการใช้ชีวิตและไม่ได้ป้องกันตัวอย่างดีพอ
อย่าลืมว่าข้อมูลการระบาดของไทยดังที่เห็นในภาพนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะสถิติที่นำเสนอทางการนั้นเป็นเฉพาะจำนวนที่ตรวจด้วยวิธี RT-PCR เท่านั้น ในขณะที่คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อจากวิธี ATK จำนวนมากไม่ได้นำมารวม และส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาด้วยแนวทางต่างๆ ไปโดยไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจ RT-PCR ได้ ดังนั้นกราฟระบาดจริงของเราจึงน่าจะสูงกว่าที่เห็นในภาพที่ 1 และ 2 อย่างมาก
ข้อมูลความรุนแรงของ Omicron เทียบกับเดลตาในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ล่าสุด Wang L และคณะได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นเรื่องความรุนแรงของ Omicron และเดลตาในเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ปี ลงใน JAMA Pediatrics เมื่อวานนี้ 1 เมษายน 2565
ดังที่เห็นในตาราง จะพบว่า Omicron นั้นรุนแรงน้อยกว่าเดลตา เพราะมีความเสี่ยงที่จะไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินลดลง 16%, เสี่ยงต่อการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลลดลง 34%, เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าไอซียูลดลง 65%, และเสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 85%
แต่ตัวเลขข้างต้น หากอ่านเผินๆ ด้วยกิเลสและความประมาท จะทำให้เข้าใจผิด กระหยิ่มยิ้มย่องว่าข้าไม่กลัว Omicron มันก็แค่ไวรัสกระจอก ธรรมดา เอาอยู่ ข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้คือ Omicron ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อไวกว่าเดลตา และมากกว่าเดลตาถึง 7 เท่า
ตัวเลขข้างต้นสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่สุดท้ายแล้วตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงเสียชีวิตจึงมากกว่าเดิม นี่คือสถานการณ์จริงที่เราเห็นได้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการระบาดหนัก
และเป็นเรื่องย้ำเตือนไทยเราให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ไม่หลงไปกับคารมคำลวงด้วยกิเลสที่ปั่นให้เข้าใจว่า Omicron กระจอก เอาอยู่ เพียงพอ ก็แค่หวัดธรรมดา หรือตะล่อมให้เข้าใจว่าเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ประจำถิ่นในเวลาอันใกล้
นอกจากเรื่องติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วโลกหนักใจคือ แม้รักษาหายในช่วงแรกที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ทั้งเรื่องความคิดความจำ อารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และอื่นๆ จนนำไปสู่ความพิการ ทุพพลภาพ ส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และสังคมได้อีกด้วย
ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด หยุดเรียนหยุดงาน แยกตัว และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
คนที่เคยติดเชื้อมาแล้วอย่าย่ามใจ ระลอก Omicron มีอัตราติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าเดลตาถึง 10 เท่า ควรป้องกันตัวเสมอ และหมั่นตรวจเช็กสถานะสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะ Long COVID ที่อาจเกิดขึ้นได้.
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat