องค์กรสื่อเผยผลการตรวจสอบเอกสารทางการเงินที่รั่วไหลออกมานับล้านฉบับ พบทรัพย์สินและข้อตกลงลับ มากมายของผู้นำโลก, นักการเมือง และมหาเศรษฐี ที่ถูกปกปิดเอาไว้หรือสังคมไม่เคยรู้มาก่อน
ตามการเปิดเผยของสำนักข่าว บีบีซี นักข่าวกว่า 650 คนจากสมาคมนักข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (ICIJ) และองค์กรสื่อทั่วโลก ร่วมกันตรวจสอบเอกสารทางการเงินและไฟล์จำนวนเกือบ 12 ล้านฉบับ ที่รั่วไหลมาจากบริษัทบริการการเงินนอกประเทศ (offshore company) 14 แห่ง ซึ่งพวกเขาเรียกเอกสารเหล่านี้โดยรวมว่า ‘แพนดอรา เพเพอร์ส’ (Pandora Papers)
เอกสารดังกล่าว มีชื่อของผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันราว 35 คน กับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 300 คนปรากกฏอยู่ รวมถึงสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ผู้ถูกระบุว่า ครอบครอบอสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์โดยไม่เปิดเผย
เอกสารยังแสดงให้เห็นว่า นาย โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกับภริยา ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเลี่ยงจ่ายอากรแสตมป์มูลค่า 312,000 ปอนด์ ตอนที่ทั้งคู่ซื้อสำนักงานในกรุงลอนดอน ด้วยการซื้อบริษัทในต่างประเทศ ที่ถือครองอาคารดังกล่าวอยู่
นอกจากนั้น เอกสารยังเชื่อมโยงประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กับทรัพย์สินลับในเมืองโมนาโก และแสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเช็ก อันเดรจ บาบิส ซึ่งกำลังจะลงศึกเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ ไม่ยอมเปิดเผยว่า เขาใช้บริษัทลงทุนต่างชาติ ในการซื้อบ้านพักตากอากาศ 2 แห่งทางใต้ขอฝรั่งเศสมูลค่า 12 ล้านปอนด์
ทั้งนี้ แพนดอรา เพเพอร์ส เป็นเอกสารรั่วไหลชุดล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตามหลัง ฟินเซน (FinCen), พาราไดส์ เพเพอร์ส (Paradise Papers), ปานามา เพเพอร์ส (Panama Papers) และ ลักซ์ลีกส์ (LuxLeaks) โดยรั่วไหลมาจากบริษัทการเงินนอกประเทศ ที่ตั้งอยู่ในดินแดนต่างๆ เช่น เกาะบริติช เวอร์จิน, ปานามา, เบลีซ, ไซปรัส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์ และ สวิตเซอร์แลนด์
บุคคลที่มีชื่อปรากฏในเอกสารบางคนกำลังเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน, ฟอกเงิน และเลี่ยงภาษี แต่ธุรกรรมจำนวนมากที่ถูกระบุในเอกสารเหล่านี้ไม่ได้มีการทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของ แพนดอรา เพเพอร์สคือ การแสดงให้เห็นว่า บุคคลสำคัญและคนร่ำรวยสามารถจัดตั้งบริษัทอย่างถูกกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ซื้อทรัพย์สินในสหราชอาณาจักร อย่างลับๆ
เรื่องดังกล่าวตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลยูเค ในการออกมาตรการลงทะเบียนผู้เป็นเจ้าของบริษัทนอกประเทศ ทั้งที่สัญญามาตลอด ท่ามกลางความกังวลว่า ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์บางคนอาจใช้วิธีการนี้ในการซ่อนเร้นการฟอกเงิน เช่นกรณีของ ประธานาธิบดี อิลฮาม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน และครอบครัว ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปล้นประเทศตัวเอง
การสืบสวนของ ICIJ พบว่า ตระกูลอาลิเยฟและผู้ช่วยใกล้ชิด แอบเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักร มูลค่ามากกว่า 400 ล้านปอนด์ และทำกำไรกว่า 31 ล้านปอนด์ในการขายอสังหาริมทรัพย์ของพวกเขาในกรุงลอนดอนให้แก่ ‘Crown Estate’ ซึ่งเป็นที่ดินของราชวงศ์งอังกฤษในยูเค ดูแลโดยกระทรวงการคลัง
นาย เฟอร์กุส ชีเอล จาก ICIJ กล่าวว่า “ไม่เคยมีอะไรที่ใหญ่ระดับนี้มาก่อน และมันแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งที่บริษัทในต่างประเทศสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้คนซ่อนเงินที่น่าสงสัย หรือเลี่ยงภาษี” นายชีเอลเสริมด้วยว่า พวกเขาใช้บริษัทในต่างประเทศเหล่านี้ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ในประเทศอื่น และเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งแก่ครอบครัวของตัวเอง โดยเอาเปรียบพลเมืองของตัวเอง
แพนดอรา เพเพอร์ส ยังแฉบุคคลสำคัญอีกหลายคนรวมถึงนาย อูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา กับสมาชิกครอบครัวของเขาอีก 6 คน ว่า แอบครอบครองเครือข่ายบริษัทในต่างประเทศ 11 แห่ง และหนึ่งในนั้นมีมูลค่าถึง 30 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สมาชิกวงในของนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน รวมทั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรีและครอบครัว แอบครอบครองบริษัทหลายแห่งและกองทรัสต์ (trust) อีกหลายล้านดอลลาร์
บริษัทกฎหมายที่ก่อตั้งโดย ประธานาธิบดี นิกอส อนาสตาเซียเดส แห่งไซปรัส ดูเหมือนจะลงทะเบียนชื่อเจ้าของปลอมเพื่อปกปิดตัวจริงของเจ้าของบริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งก็คือนักการเมืองชาวรัสเซียผู้ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน ส่วนประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ทำการโอนหุ้นที่เขาถือครองในบริษัทลับ ก่อนที่เขาจะชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่นาน