เจาะบ่อเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เก็บฝนเพิ่มต้นทุนน้ำ 696 ตำบล 23 จังหวัด

การสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับประเทศไทยจริงอยู่ แม้ว่าระยะนี้จะมีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากไปจนถึงเดือน พ.ย.นี้

แต่โดยข้อเท็จจริง ปริมาณน้ำฝนในช่วง 8 เดือนแรกของปี ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค.ประเทศไทยมีฝนน้อยมาก ซึ่งกว่าจะเริ่มมีฝนตกก็ล่วงเลยมาถึงเดือน ก.ย. ที่สำคัญจากการตรวจสอบพบว่า บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีฝนตกน้อยมาก โดย 15 วันแรกของเดือน ก.ย.นั้น บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณฝนตกรวมกัน ไม่ถึง 50 มิลลิเมตร ในขณะที่พื้นที่อื่นทั่วประเทศฝนตกรวมกันแล้วได้ปริมาณประมาณ 300-400 มิลลิเมตร ทำให้ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำที่ใช้การได้น้อยมากคือประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

ขณะที่ประเทศไทยต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง หรือจะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนเผื่อฝนมาช้าในปี 2565 ถึง 8,000-12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายถึง เขื่อนยังมีปริมาณน้ำน้อยมากและยังสามารถรับน้ำได้อีกจำนวนมาก

ดังนั้น น้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาล จึงเป็น “ตัวช่วย” ที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำโดยการนำน้ำผิวดินส่วนเกิน หรือนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมและเก็บลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับการยอมรับ และมีการดำเนินการมาแล้วเป็นเวลายาวนานในนานาประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ในช่วงฤดูแล้ง และเป็นการบรรเทาภาวะน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ Dtbezn3nNUxytg04agAELUgMTib5FkF856sdJtlOtQe3nF.webp

โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการเติมน้ำใต้ดิน คือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้ ทส.วางแผนการเติมน้ำใต้ดินตลอดฤดูฝนนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้า ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขับเคลื่อนภารกิจการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2564 จำนวนทั้งสิ้น 1,528 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จำนวน 500 แห่ง พื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง จำนวน 30 แห่ง ส่วนอีก 998 แห่ง ดำเนินการในพื้นที่ 64 จังหวัด 396 อำเภอ จำนวน 998 ตำบล ผลที่เกิดขึ้นจากการเติมน้ำใต้ดิน จะทำให้ระดับน้ำใต้ดินรอบๆบ่อเติมน้ำค่อยๆยกตัวสูงขึ้น และเมื่อมีการก่อสร้างระบบเติมน้ำในพื้นที่กระจายตัว เพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำใต้ดินจะยกตัวขึ้นเป็นบริเวณกว้าง เกษตรกรจะสามารถสูบน้ำที่กักเก็บไว้ใต้ดินในช่วงฤดูฝน กลับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ในระยะยาว และในทางกลับกัน เมื่อปริมาณน้ำหลากท่วมในช่วงหน้าฝนถูกระบายลงไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดินมากขึ้น ก็จะเป็นการตัดทอนปริมาณน้ำที่ไหลล้นและท่วมในพื้นที่ลงไปได้ จึงเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังได้อีกทางหนึ่ง” นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงแผนดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบ ประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/2564 ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 2,194 แห่ง เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดย โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 696 ตำบล เป็น 1 ใน 7 โครงการดังกล่าว มีพื้นที่ดำเนินการรวม 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ลพบุรี ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ กำแพงเพชร ตาก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย บึงกาฬ หนองคาย ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 250 แห่ง คงเหลืออีก 446 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในเดือน ต.ค.นี้

“สำหรับปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้อนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการเติม

น้ำใต้ดินระดับตื้นเพิ่มเติมอีก 300 แห่ง ใน จ.กำแพงเพชร และ จ.พิจิตร ซึ่งได้สั่งการ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป ยืนยันว่า การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นจะไม่ส่งผลกระทบกับบ่อน้ำบาดาลที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาลดำเนินการในปัจจุบัน เนื่องจากบ่อน้ำบาดาลจากทุกโครงการขุดเจาะในชั้นน้ำบาดาลระดับลึกตั้งแต่ 100-500 เมตร ไม่ใช่ชั้นน้ำบาดาลในระดับเดียวกันกับการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ที่สำคัญการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับ ตื้นผ่านบ่อเติมน้ำก็ต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐาน” อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์

นายศักดิ์ดากล่าวด้วยว่า การเติมน้ำใต้ดินที่กรมดำเนินการทั้งหมดเป็นการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน เช่น
จ.อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร จะใช้ประโยชน์จากน้ำใต้ดินระดับตื้นเพื่อทำนาปรัง สังเกตได้จากพื้นที่ใดที่น้ำในคลองส่งน้ำแห้งขอด แต่บริเวณรอบๆคลองส่งน้ำยังมีพื้นที่ทำนาได้ผลผลิตดีเช่นเดิม แสดงว่าเกษตรกรไม่ได้ใช้น้ำผิวดินทำนาปรัง แต่เกิดจากการสูบน้ำใต้ดินระดับตื้นมาใช้ ดังนั้น การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น จึงเป็นการแก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำใต้ดิน ช่วยฟื้นฟูระดับน้ำใต้ดินให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้พลังงานเพื่อการสูบน้ำน้อยลง จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ถือเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมขัง ตลอดจนเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศที่พึ่งพาระบบน้ำใต้ดิน

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือ ทำอย่างไรจึงมีการต่อยอดขยายผลไปสู่ทุกตำบล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับชาวบ้านและชุมชนเพื่ออนาคตจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งซ้ำซาก.