เจ้าพระยาน้ำลด “ชี-มูล” ทะลักอีสาน พังงาพายุซัดบ้านเรือน อ่างทองน้ำขังเริ่มเน่าเหม็น กรมอุตุฯเตือนเตรียมรับฝนถล่ม 13-14 ต.ค.นี้

สถานการณ์น้ำชีไหลเข้า อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ชาวบ้าน เตรียมรับมือขนย้ายข้าวของหนีน้ำ ส่วนน้ำมูลเริ่มล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วม 2 อำเภอ ใน จ.อุบลราชธานี พังงาพายุซัดบ้านเรือนพังเสียหาย อ่างทองน้ำขังเริ่มเน่าเหม็น อยุธยาน้ำลดแล้วเฝ้าระวัง พายุลูกใหม่ ส่วนนายกฯสั่งเยียวยานาล่ม ขณะที่กรมอุตุฯแจ้งเตรียมรับฝนถล่ม 13-14 ต.ค.นี้

มวลน้ำชียังไหลทะลักเข้าท่วมในหลายพื้นที่ภาคอีสาน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำต่างได้รับผลกระทบ ส่วนชาวโคราชและขอนแก่นน้ำลดแล้วร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ต่างเตรียมรับมือพายุ “คมปาซุ” เร่งผันน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมรับสถานการณ์ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำทะเล หนุนสูง ชาวบ้านวางกระสอบทรายป้องกันพื้นที่ริมน้ำ

ขอนแก่นน้ำลดต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ไม่มีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่ ขณะนี้น้ำจะไหล ไปตามแรงโน้มถ่วงในทิศทางปกติ ภาพรวมถือว่า ทุกพื้นที่มีน้ำลดลง เช่นที่ อ.มัญจาคีรี ปริมาณน้ำลดลงไป 9 ซม. อ.เมือง น้ำลดลงไป 12-13 ซม. และ ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นลุ่มน้ำลดลงไป 9 ซม. มวลน้ำจะไหลต่อไปจนถึง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี และไปออกยังลำน้ำโขง สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน 15 อำเภอ จังหวัดขอนแก่นนั้น ขณะนี้ในพื้นที่ 6 อำเภอ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทิศตะวันตก เฉียงใต้ คือ อ.โนนศิลา อ.แวงน้อย และ อ.แวงใหญ่ เป็นจุดแรกในการรับน้ำจาก จ.ชัยภูมิ น้ำเริ่มลดลงแล้ว จุดที่ถือว่าสถานการณ์หนักสุดคือ อ.เมือง ในเขตของ พื้นที่การเกษตร มีน้ำล้นตลิ่งอยู่ที่ประมาณ 1.38 เมตร น้ำลดลงวันละ 13-14 ซม. จังหวัดขอนแก่นมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่งมอบเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาป้องกันน้ำกัดเท้าและเวชภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่ประชาชนรักษาตัว

กันทรวิชัยจมบาดาล

ส่วนมวลน้ำไหลเข้าพื้นที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ด้านทิศเหนือของแม่น้ำชี และ อ.เมืองมหาสารคาม ทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำชี น้ำเอ่อเข้าท่วม ที่ลุ่มต่ำทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะที่วัดป่าอาศิรวาสเกาะเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม อยู่ติดแม่น้ำชี พระและ ชาวบ้านช่วยกันเร่งเก็บของขึ้นที่สูง หลังจากแม่น้ำชี เพิ่มระดับสูงขึ้น ขณะนี้มวลน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วม พื้นที่ในวัดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิ และสะพานไม้เกาะเกิ้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีความยาว ประมาณ 145 เมตร ไม่สามารถเดินข้ามเข้ามายังวัดได้ ทำให้นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนต้องสร้างเป็น คันไม้ยกสูงเดินเข้ามาทำบุญ ส่วนพื้นที่ อ.กันทรวิชัย ปริมาณน้ำชีเอ่อท่วมเข้าไปแล้ว 4 ตำบล 22 หมู่บ้าน

น้ำชีไหลเข้าจังหาร

ที่บ้านหนองแค ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเริ่มมีมวลน้ำไหลมาจาก จ.มหา สารคาม เริ่มเอ่อล้นริมตลิ่งไหลเข้าท่วมนาข้าวและพื้นที่ การเกษตร ที่ประตูระบายน้ำกุดเชียงบังยังสามารถกันน้ำไว้ได้ หากปริมาณน้ำไม่มามากกว่านี้ ปริมาณน้ำ สองฝั่งของแม่น้ำชีเริ่มล้นตลิ่งแล้ว ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนต่างทยอยเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง

น้ำมูลล้นท่วม 5 ชุมชน

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ใช้เครื่องสูบน้ำขนาด 10 และ 12 นิ้ว จำนวน 8 เครื่อง เร่งสูบน้ำออกจากหนองน้ำ บ้านท่าบ้งมั่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือและฝนที่จะไหลมาเติมจากพายุคมปาซุ ที่กำลังก่อตัวและจะขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 14-15 ต.ค.นี้ ขณะนี้แม่น้ำมูลล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชนที่ลุ่มต่ำ 5 ชุมชน ชาวบ้านอพยพหนีน้ำไปกว่า 70 ครอบครัว สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมรวม 10 อำเภอ แต่ที่ได้รับผลกระทบ น้ำท่วมบ้านเรือนมี 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.วาริน ชำราบ รวม 25 ชุมชน ต้องอพยพไปอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราว 326 ครอบครัว รวม 1,285 คน

พังงาคลื่นแรงซัดหาดพัง

ช่วงเช้าเกิดพายุฝนและลมกระโชกแรงในพื้นเทศบาลเมืองพังงา บ้านเรือนหลังคาปลิวว่อน ที่บริเวณลานหลวงปู่ทวด สวนกาญจนาภิเษก เขตเทศบาลเมืองพังงา พบว่ารูปปั้นฝูงช้างจำนวน 12 ตัว ด้านหน้าองค์หลวงปู่ทวด ถูกลมพายุกระโชกแรงซัดล้มลงเสียหายจำนวน 3 ตัว ส่วนที่บ้านบางหลาโอน หมู่ 7 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบว่า บรรยากาศทั่วไปยังคงมีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ประกอบกับมีลมกระโชกแรง ส่วนบริเวณชายหาด นางทองพบว่า คลื่นมีกำลังแรง ความสูงของคลื่น 2-3 เมตร ความแรงของคลื่นกัดเซาะบริเวณชายหาดนางทอง ทำให้ต้นสนที่มีอายุกว่า 30 ปีโค่นล้ม 5 ต้น ส่วนร้านอาหารที่อยู่บริเวณชายหาดทรุดตัว ด้านผู้ประกอบการที่พักรีสอร์ต เร่งทำแนวกันคลื่นใช้ไม้สนตัดเป็นท่อนๆ ปักเป็นแนวแล้วใช้กระสอบทรายทับอีกชั้น แต่เนื่องจากคลื่นมีกำลังแรง ทำให้แนวชายหาดได้รับความเสียหายกว่า 200 เมตร ส่วนที่ จ.ตราด เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วม 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.สะตอ ต.เทพนิมิต และ ต.วังตะเคียน อ.เขาสมิง ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ้านเรือนเสียหายกว่า 100 หลังคาเรือน

ช่างแอร์ให้บริการฟรี

นายสยาม อ่อนคำ หนุ่มช่างแอร์เมืองชัยนาท เปิดเผยว่า ช่วงน้ำท่วม จ.ชัยนาท ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ตนมีความคิดจิตอาสาจะตระเวนไปทั่วจังหวัด เพื่อช่วยชาวบ้านย้ายแอร์หนีน้ำ ติดตั้งและถอดแอร์ฟรี ตนอยากเป็นหนึ่งในส่วนเล็กๆ อาสาเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน เท่าที่มีแรงพอจะทำได้ โดยไม่หวังค่าตอบแทน

อ่างทองน้ำเน่าเหม็น

สถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ปริมาณน้ำสูง 08.75 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร กระแสน้ำไหลผ่าน 2,370 ลบ.ม.ต่อวินาที ด้านนางบุปผา เค็งซี อายุ 69 ปี ชาวบ้านใน ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย เปิดเผยว่า น้ำท่วมชั้นล่างต้องขนของไปเก็บไว้ที่ชั้น 2 ช่วงนี้น้ำเริ่มหยุดนิ่งขังเป็นเวลานานส่งกลิ่นเหม็นเน่าแล้วชาวบ้านอยู่อย่างลำบาก ที่ จ.อ่างทอง ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย อ.เมืองอ่างทอง และ อ.สามโก้ บ้านเสียหาย 5,054 หลังคาเรือน 37 ตำบล 167 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 20,973 ไร่

“ธรรมนัส” ควงเมียแจกของ

ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางโขมด หมู่ 4 อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ธนพร ศรีวิราช ภรรยาพร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำท่วม มอบถุงยังชีพพร้อมยาเวชภัณฑ์ และยารักษาโรค จำนวน 300 ชุด ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ตนลงพื้นที่เพื่อมาพบกับพี่น้องประชาชน และมารับทราบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อนำกลับไปรายงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่กำกับดูแลศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งชาติ หาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะทราบว่าทุกปีจะมีพายุลูกใหญ่ ทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมทุกปี ขอให้พี่น้องอดทน รัฐบาลพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างสุดความสามารถ

วางกระสอบทรายกั้น

ที่บริเวณหน้าวัดดงตาล หมู่ 1 ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พระ สามเณร ครูโรงเรียนวัดดงตาล และชาวบ้านช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นน้ำริมเขื่อนลำคลองสองพี่น้องดึงน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้ามาในวัดและโรงเรียน และบ้านเรือนของชาวบ้าน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเวลานี้ วอนให้หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง เร่งหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

อยุธยาลดต่อเนื่อง

นายธนากร ตันติกุล ผอ.โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำ กรม ชลประทานบริหารการจราจรน้ำ ปรับลดการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำจากอัตรา 450 เหลือ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในอัตราจาก 676 ลดลงเหลือ 656 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักบริเวณด้านท้ายเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง จุดวัดระดับน้ำที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงมากกว่า 50 ซม. แม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลงตามไปด้วย ขณะที่ อ.บางไทร เป็นจุดวัดน้ำก่อนไหลผ่านลงสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,817 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 35 ซม. ช่วงระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.นี้ เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทั้งนี้ แม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ในระยะนี้จนถึงกลางเดือน ต.ค. ขอให้ติดตามพายุ “คมปาซุ” อย่างใกล้ชิด

ทุเรียนยืนต้นตายยกสวน

ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี น้ำท่วมในพื้นที่กระทบชาวสวนทุเรียนในพื้นที่หมู่ 1 ต.เกาะเกร็ด น้ำท่วมสูงน้ำเอ่อล้นแนวคันป้องกันเข้าท่วมสวนทุเรียนนับร้อยต้น ขณะนี้ใบเหี่ยวแห้งยืนต้นตายหลายต้น นอกจากความเสียหายของต้นทุเรียนยังมีต้นส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าที่กำลังให้ผลผลิตเป็นรายได้หลักชาวสวนในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต เริ่มจะตายเหมือนกัน

ปภ.แจง 14 จว.ยังอ่วม

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 14 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 64 อำเภอ 376 ตำบล 1,995 หมู่บ้าน 101,923 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำ

อุตุฯแจ้งฝนถล่ม 13-14 ต.ค.

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุ “คมปาซุ” ฉบับที่ 2 ระบุว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ต.ค. พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 13-14 ต.ค. หลังจากนี้จะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออก เฉียงเหนือในช่วงวันดังกล่าว อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

“ศักดิ์สยาม” รับมือพายุ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 1 พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” อาจทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแปรไปสู่การปฏิบัติรวมถึงให้มีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที ส่วนเส้นทางสัญจรไหนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หากน้ำลดให้เตรียมพร้อมเข้าฟื้นฟูทันที นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ประชาสัมพันธ์ การดำเนินการให้ประชาชนให้รับทราบด้วย และรายงาน ผลการดำเนินงานมายังกระทรวงฯ รับทราบทุกวัน

ถนนพัง 57 เส้นทาง

กระทรวงคมนาคม ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 64 พบว่า มีโครงข่ายคมนาคมได้รับผลกระทบ รวม 57 เส้นทาง จำนวน 84 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 45 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 39 แห่ง ส่วนถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบรวม 56 เส้นทาง จำนวน 83 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 45 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 38 แห่ง สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยมีทั้งหมด 17 จังหวัด จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม นครสวรรค์ อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังสามารถเปิดขบวนรถวิ่งได้ตามปกติทุกสายทาง ขณะที่บริษัท ขนส่ง จำกัด ผู้ให้บริการรถขนส่งผู้โดยสาร ปรับเส้นทางรถโดยสารเว้นเส้นทาง พิจิตร ได้แก่สาย 47 กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง สาย957 กรุงเทพฯ-แม่สาย และสาย 962 กรุงเทพฯ-ป่าแดด-เชียงของ เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง ทล.117 นครสวรรค์-พิษณุโลกแทน

นายกฯสั่งเยียวยานาล่ม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชน แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว. กลาโหม ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ขณะนี้มีกว่า 30 จังหวัดได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายว่า นายกฯ ชี้แจงว่ามีมาตรการเยียวยาตามระเบียบอยู่แล้ว ต้องเร่งสำรวจข้อเท็จจริง ความเสียหายมากน้อย เพื่อเตรียมงบประมาณ ให้เพียงพอและจ่ายให้โดยเร็ว