เปิดขั้นตอน-วิธีการ ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ไม่ยากอย่างที่คิด! เริ่ม 25 มี.ค.วันแรก ถึง 9 เม.ย. 66

เปิดขั้นตอน วิธีการ ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ไม่ยากอย่างที่คิด เริ่ม 25 มี.ค.วันแรก ถึง 9 เม.ย. 66 หลัง กกต.เคาะวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ส่วนเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.

เรียกได้ว่าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง 2566 อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุบสภา และต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่รัฐบาลและสภาจะสิ้นวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เพียง 3 วัน ซึ่งเมื่อยุบสภาแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาและที่ประชุม กกต. ให้ความเห็นชอบกำหนดวันเลือกตั้ง คือ “วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566” และสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต ได้ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 รวมถึงไทม์ไลน์การรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมไปถึงการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งในเขต นอกเขต และนอกราชอาณาจักรด้วย ขณะที่ช่วงเวลาการใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะเริ่มตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. ของวันที่ 7 และ 14 พฤษภาคม 2566

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในไทยมีเท่าไร

ในเวลาต่อมา กกต.ยังเผยแพร่จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. (ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 18.19 น.) พบว่า จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีทั้งสิ้น 52,287,045 คน แบ่งตามจังหวัดเป็นดังนี้

1. กรุงเทพมหานคร 4,469,280 คน
2. จังหวัดสมุทรปราการ 1,084,057 คน
3. จังหวัดนนทบุรี 1,053,797 คน
4. จังหวัดปทุมธานี 959,646 คน
5. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 665,860 คน
6. จังหวัดอ่างทอง 225,355 คน
7. จังหวัดลพบุรี 599,753 คน
8. จังหวัดสิงห์บุรี 168,702 คน
9. จังหวัดชัยนาท 262,960 คน
10. จังหวัดสระบุรี 510,002 คน
11. จังหวัดชลบุรี 1,230,960 คน
12. จังหวัดระยอง 586,507 คน
13. จังหวัดจันทบุรี 428,280 คน
14. จังหวัดตราด 175,200 คน
15. จังหวัดฉะเชิงเทรา 577,592 คน
16. จังหวัดปราจีนบุรี 395,888 คน
17. จังหวัดนครนายก 209,765 คน
18. จังหวัดสระแก้ว 438,390 คน
19. จังหวัดนครราชสีมา 2,124,587 คน
20. จังหวัดบุรีรัมย์ 1,253,326 คน
21. จังหวัดสุรินทร์ 1,094,033 คน
22. จังหวัดศรีสะเกษ 1,166,887 คน
23. จังหวัดอุบลราชธานี 1,477,644 คน
24. จังหวัดยโสธร 434,604 คน
25. จังหวัดชัยภูมิ 905,363 คน
26. จังหวัดอำนาจเจริญ 302,361 คน
27. จังหวัดบึงกาฬ 329,067 คน
28. จังหวัดหนองบัวลำภู 407,401 คน
29. จังหวัดขอนแก่น 1,453,689 คน
30. จังหวัดอุดรธานี 1,252,820 คน
31. จังหวัดเลย 506,768 คน
32. จังหวัดหนองคาย 411,851 คน
33. จังหวัดมหาสารคาม 775,913 คน
34. จังหวัดร้อยเอ็ด 1,058,843 คน
35. จังหวัดกาฬสินธ์ 790,215 คน
36. จังหวัดสกลนคร 912,776 คน
37. จังหวัดนครพนม 569,889 คน
38. จังหวัดมุกดาหาร 277,690 คน
39. จังหวัดเชียงใหม่ 1,333,088 คน
40. จังหวัดลำพูน 334,759 คน
41. จังหวัดลำปาง 613,504 คน
42. จังหวัดอุตรดิตถ์ 368,868 คน
43. จังหวัดแพร่ 366,594 คน
44. จังหวัดน่าน 389,653 คน
45. จังหวัดพะเยา 387,135 คน
46. จังหวัดเชียงราย 944,843 คน
47. จังหวัดแม่ฮ่องสอน 181,005 คน
48. จังหวัดนครสวรรค์ 841,485 คน
49. จังหวัดอุทัยธานี 261,510 คน
50. จังหวัดกำแพงเพชร 569,105 คน
51. จังหวัดตาก 404,652 คน
52. จังหวัดสุโขทัย 480,591 คน
53. จังหวัดพิษณุโลก 687,568 คน
54. จังหวัดพิจิตร 430,476 คน
55. จังหวัดเพชรบูรณ์ 786,317 คน
56. จังหวัดราชบุรี 683,706 คน
57. จังหวัดกาญจนบุรี 646,937 คน
58. จังหวัดสุพรรณบุรี 676,927 คน
59. จังหวัดนครปฐม 739,351 คน
60. จังหวัดสมุทรสาคร 445,862 คน
61. จังหวัดสมุทรสงคราม 157,027 คน
62. จังหวัดเพชรบุรี 389,429 คน
63. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 429,624 คน
64. จังหวัดนครศรีธรรมราช 1,219,530 คน
65. จังหวัดกระบี่ 356,554 คน
66. จังหวัดพังงา 206,691 คน
67. จังหวัดภูเก็ต 311,696 คน
68. จังหวัดสุราษฎร์ธานี 828,917 คน
69. จังหวัดระนอง 139,750 คน
70. จังหวัดชุมพร 404,048 คน
71. จังหวัดสงขลา 1,097,125 คน
72. จังหวัดสตูล240,168 คน
73. จังหวัดตรัง 501,732 คน
74. จังหวัดพัทลุง 417,316 คน
75. จังหวัดปัตตานี 508,803 คน
76. จังหวัดยะลา 381,354 คน
77. จังหวัดนราธิวาส 575,624 คน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

  • มีสัญชาติไทย หรือหากเคยแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทำอย่างไร ถึงวันไหน

สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขต 20 วันก่อนเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.กำหนดให้ลงทะเบียนในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 โดยยื่นคําขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่ กกต.กําหนด ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ์เลือกตั้ง ยื่นด้วยตนเอง มอบหมายผู้มีสิทธิ์รับยื่นแทน หรือยื่นทางไปรษณีย์

การยื่นคําขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง “ในเขตเลือกตั้ง”

  • ยื่นคําขอลงทะเบียนต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  • เขียนรายละเอียดลงแบบคําร้องขอ พร้อมเอกสาร และหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นคําขอลงทะเบียน ได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นด้วยตนเอง มอบหมายผู้มีสิทธิ์รับยื่นแทน หรือยื่นทางไปรษณีย์


ยื่นคําขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าต้องเตรียมอะไรบ้าง

  • สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือ
  • สําเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  • คําสั่งของทางราชการ หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ
  • แบบคําร้องขอใช้สิทธิ์

การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง “นอกเขตเลือกตั้ง”

  • เป็นผู้ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  • เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
  • สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ทํางาน หรืออาศัยอยู่ได้
  • ยื่นคําขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
  • กรณีเขตเลือกตั้งใดมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตําแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ลงทะเบียนสามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้


การยื่นคําขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง “นอกเขตเลือกตั้ง”

  • ยื่นคําขอลงทะเบียนต่อนายทะเบียนอําเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีถิ่นที่อยู่
  • เขียนรายละเอียดลงแบบคําร้องขอ พร้อมเอกสาร และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยยื่นคําขอลงทะเบียน ได้ 3 ช่องทาง คือ ยื่นคําขอด้วยตนเอง (หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน) ยื่นคําขอทางไปรษณีย์ หรือยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต (คลิกลงทะเบียน) หรือทางแอปพลิเคชัน Smart Vote สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องนําส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียน


สิ่งที่ต้องเตรียมในการยื่นคําขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง “นอกเขตเลือกตั้ง”

  • สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน หรือสําเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจําตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้
  • แบบคําร้องขอใช้สิทธิ์

ขั้นตอนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ผ่านเว็บไซต์

1. เข้าสู่ระบบ (คลิกลงทะเบียน) บันทึกข้อมูล เลขประจําตัวประชาชน, ชื่อ-สกุล, วันเดือนปีเกิด, หมายเลขหลังบัตรประจําตัวประชาชน เลขรหัสประจําบ้าน (11 หลัก) และสถานที่ที่ประสงค์จะใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ให้ถูกต้องครบถ้วน แล้วให้เลือก “ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง”


2. ตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่

กรณีผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว

  • ถ้าประสงค์จะขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนน ให้ระบุสถานที่ที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
  • ถ้าประสงค์จะขอยกเลิกการลงทะเบียน ให้เลือกรายการขอยกเลิกการลงทะเบียน
  • แล้วเลือก “บันทึกข้อมูล”


3. เข้าสู่หน้าการยืนยันการบันทึกข้อมูล ให้ตรวจสอบว่าข้อมูลที่ปรากฏถูกต้องหรือไม่

  • ถ้าประสงค์จะกลับไปแก้ไขข้อมูล เลือกรายการ “กลับไปแก้ไขข้อมูล”
  • หากถูกต้องครบถ้วนแล้ว เลือกรายการ “ยืนยันการบันทึกข้อมูล”


4. เมื่อยืนยันการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ ระบบจะแสดงแบบตอบรับเป็นหลักฐานประกอบการลงทะเบียนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง

ขั้นตอนการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ “เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร”

กรณีอยู่นอกราชอาณาจักร

ยื่นแบบคําร้องขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมเอกสารแสดงตน เพื่อลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ในวันและเวลาราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูตแห่งเขตรับผิดชอบที่ตนมีถิ่นที่อยู่ สามารถยื่นขอลงทะเบียนได้ 3 ช่องทาง คือ

  • ยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน
  • ยื่นทางไปรษณีย์ถึงสถานเอกอัครราชทูต
  • ยื่นคําขอทางอินเทอร์เน็ต (คลิกลงทะเบียน)


กรณีอยู่ในประเทศไทยแต่จะ “เดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้ง”
 สามารถยื่นขอลงทะเบียนได้ 3 ช่องทางเช่นเดียวกับข้างต้น ทั้งนี้การลงทะเบียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องนําส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียน มีขั้นตอนดังนี้

1. เข้าสู่ระบบ (คลิกลงทะเบียน) บันทึกข้อมูล เลขประจําตัวประชาชน, ชื่อ-สกุล, วันเดือนปีเกิด, หมายเลขหลังบัตรประจําตัวประชาชน เลขรหัสประจําบ้าน (11 หลัก) และสถานที่ที่ประสงค์จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้ถูกต้องครบถ้วน ให้เลือกรายการ “ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง”

2. ตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่

กรณีผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว

  • ถ้าประสงค์จะขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ลงคะแนน ให้ระบุสถานที่ที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
  • ถ้าประสงค์จะขอยกเลิกการลงทะเบียน ให้เลือกรายการขอยกเลิกการลงทะเบียน
  • จากนั้นเลือก “บันทึกข้อมูล”

3. เข้าสู่หน้าการยืนยันการบันทึกข้อมูล ให้ตรวจสอบว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่

  • ถ้าประสงค์จะกลับไปแก้ไขข้อมูล ให้เลือก “กลับไปแก้ไขข้อมูล”
  • หากถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้เลือก “ยืนยันการบันทึกข้อมูล”

4. เมื่อยืนยันการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ ระบบจะแสดงแบบตอบรับเป็นหลักฐานประกอบการลงทะเบียนเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน

การตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้ง

20 วันก่อนการเลือกตั้ง ตรวจสอบได้ที่

  • ศาลากลางจังหวัด
  • ที่ว่าการอำเภอ
  • ที่ทำการเขต
  • ที่ทำการ อบต.
  • สำนักงานเทศบาล
  • ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือเขตชุมชน


15 วันก่อนการเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ได้ที่

  • หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ส. 1/6)
  • แอปพลิเคชัน Smart Vote

การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเอง หรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ให้ยื่นแบบคำร้องแจ้งเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อกับต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง

โดยนำหลักฐานมาแสดง ดังนี้

  • แบบคำร้องขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ (แบบ ส.ส.1/7)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้

สำหรับวันเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ยังเป็นช่วงสัปดาห์ที่ติดกับวันฉัตรมงคล ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2566 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวจะมีวันหยุดติดต่อกันถึง 4 วัน คือ 4-7 พฤษภาคม 2566 คาดว่าหลายคนอาจจะใช้โอกาสนี้เดินทางกลับภูมิลำเนาและเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย จึงต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ พรรคการเมืองต่างหาเสียงขายนโยบายเพื่อที่จะได้เป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปทำงานในสภา และครั้งนี้ประชาชนจะได้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ ซึ่งปีนี้จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีทั้งสิ้น 52.2 ล้านคน คงต้องจับตาหลังจบเลือกตั้งว่าชัยชนะจะอยู่ที่ฝ่ายใด การจัดตั้งรัฐบาลจะคล้ายกับรัฐบาลที่ผ่านมา หรือจะได้รัฐบาลใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับปลายปากกาของทุกคน เพราะฉะนั้นอย่าลืมออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งใหญ่ในครั้งนี้.

ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Chonticha Pinijrob