หลังจากที่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมอนักอนุรักษ์ธรรมชาติ และนักดูนก ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นการตั้งกระทู้ถามถึงเรื่องความเหมาะสมเรื่องของการจัดงานวิ่งเทรล ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่นับวันยิ่งจะมีการขยายกลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งเทรลจึงทำให้มีการจัดงานหลายงาน และในหลายพื้นที่ ส่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติต่างๆ และการจัดงาน Doi Inthanon Thailand By UTMB 2022 มีการนำไฟดิสโก้ขึ้นไปตกแต่ง และเปิดบริเวณยอดดอยจุดสูงสุดแดนสยาม และตรงที่เป็นที่ตั้งของ กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ที่บรรจุอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ชาวเชียงใหม่ให้ความศรัทธา เคารพนับถือ และยังเป็นโบราณสถานสำคัญด้วย
นอกจากนี้แล้วยังติงเรื่องของขนาดของการจัดงานที่ใหญ่เกินไปนำนักวิ่งที่เข้าร่วมมากถึง 5,800 คน ไม่รวมทีมงาน ออร์แกไนซ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ อีก ซึ่งมองดูว่ามันใหญ่ และเกินของเขตความสามารถในการดูแลที่จะทำให้ธรรมชาติเสียหาย และได้รับผลกระทบจากปริมาณคนที่เข้ามาในพื้นที่ป่ามากขนาดนั้น
ล่าสุดมีรายงานว่าทางด้าน นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้สั่งให้ยกเลิก และรื้อเอาไฟแสงสีที่ติดตั้งบนยอดดอย และบริเวณกู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ออกหมดแล้ว ตามคำท้วงติงของนักอนุรักษ์ แต่การจัดงานก็ยังต้องดำเนินต่อไปตามกำหนดการที่ทำอย่างดำเนินการไปหมดแล้ว โดยเฉพาะพิธีเปิดในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งก็มีการจัดงานบริเวณลานหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีการเปิดเวทีการแสดงแสงสีเสียงคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบกระหึ่มไปทั่วทั้งดอย
โดยพิธีเปิดมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการแข่งขันวิ่งเทรล Doi Inthanon Thailand By UTMB 2022 ที่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 และเป็นปีแรกของสนามที่ได้รับการประกาศให้เป็นสนาม World Series ในระดับ Major ซึ่งการยกระดับในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จสูงสุด เพราะมีสนามทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสนาม Major เพียง 3 สนาม จาก 5 ทวีป โดยการแข่งขันในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2565 และได้รับความสนใจจากนักวิ่งทั่วโลกเดินทางมาร่วมการแข่งขันกว่า 5,400 คน จาก 64 ประเทศ โดยเฉพาะนักวิ่งจากประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และฝรั่งเศส ที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก พร้อมมุ่งคว้าแชมป์สนามเมเจอร์หนึ่งเดียวของเอเชีย-แปซิฟิกแห่งนี้
โดยคิดเป็นสัดส่วนนักกีฬาต่างชาติถึงร้อยละ 30 ขณะที่ นักกีฬาคนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะมาจาก 70 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงผู้ติดตามอีกกว่า 15,000 คน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท สำหรับบรรยากาศภายในงานวันนี้ นักวิ่งต่างทยอยเดินทางมารับหมายเลขประจำตัวนักวิ่ง (BIB) พร้อมตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ ก่อนที่จะได้มีการเริ่มปล่อยตัวนักวิ่งแต่ละระยะในวันนี้ (9 ธ.ค. 65) โดยเส้นทางของระยะ 100 ไมล์ (SUMMIT 160) นักวิ่งจะได้มีโอกาสวิ่งสู่จุดสูงสุดของดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล และระยะ 100 กิโลเมตร (CLIFF 100) จะได้วิ่งในเส้นทางของผาที่สวยที่สุดของดอยอินทนนท์ถึง 2 แห่ง ด้วยกัน