โพล ชี้ สถานการณ์การเมืองไทยปี 2566 คนกว่า 62% เชื่อมีแนวโน้มซื้อเสียงเลือกตั้ง รองลงมาใช้อิทธิพล อำนาจรัฐหาเสียง ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 66 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น
8 ม.ค. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2566” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-6 มกราคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และโควิด-19 ในปี 2566 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไปในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.27 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 36.11 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายมากขึ้น ร้อยละ 10.07 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะวุ่นวายน้อยลง ร้อยละ 7.86 ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะไม่วุ่นวายเลย และร้อยละ 0.69 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 62.60 ระบุว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 36.56 ระบุว่า มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้อิทธิพล และ/หรือ อำนาจรัฐในการหาเสียง ร้อยละ 33.74 ระบุว่า จะมีการโกงการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเอาผิดผู้บงการได้ ร้อยละ 29.39 ระบุว่า จะมีการใช้เงินในการหาเสียงมากกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด และจะมีแค่การทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งในเรื่องเล็กๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 20.23 ระบุว่า จะไม่มีการซื้อเสียงเลือกตั้ง ร้อยละ 16.95 ระบุว่า จะไม่มีการใช้อิทธิพล และ/หรือ อำนาจรัฐในการหาเสียง ร้อยละ 12.82 ระบุว่า จะมีการใช้เงินในการหาเสียงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ร้อยละ 11.30 ระบุว่า จะไม่มีการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ร้อยละ 4.05 ระบุว่า จะมีการโกงการเลือกตั้ง และสามารถเอาผิดผู้บงการได้ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.25 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 34.51 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเหมือนเดิม ร้อยละ 28.09 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่ลง และร้อยละ 0.15 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.57 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป รองลงมา ร้อยละ 32.06 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะลดน้อยลง ร้อยละ 19.70 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเหมือนเดิม และร้อยละ 12.67 ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงขึ้น.