อ.เจษฎา ไขความลับ “กบหมาล่า” ตัดหัว ถลกหนัง ผ่าเครื่องในออกแล้วยังดิ้นได้ ชี้เป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เผยกบที่ไม่มีสมองแล้ว กลับทำพฤติกรรมต่างๆ ตามที่ถูกกระตุ้นได้อย่างคงที่มากกว่ากบที่ยังมีสมอง
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับ “กบหมาล่า ตัดหัวแล้วยังดิ้นได้” หลังจากโลกออนไลน์มีการแชร์คลิป เมนูหมาล่านำ “กบ” ที่ถูกตัดหัว ถลกหนังออก ผ่ากลางเอาเครื่องในออก เหลือตัวกับแขนขา แต่ยังสามารถที่จะขยับตัว
โดยระบุว่า กบที่เห็นนั้นมันก็ตายแล้วละครับ ไม่มีหัว ไม่มีสมองสั่งการแล้ว แต่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาทต่างๆ ยังหดตัวได้เมื่อถูกกระตุ้น (เป็น reflex reaction หรือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์) ตอนที่เพิ่งตายใหม่ๆ
กบ และสัตว์มีกระดูกสันหลังต่างๆ จะใช้สมองเป็นตัวสั่งการอวัยวะและร่างกายให้ทำงานครับ ผ่านการส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาท ที่เรียงตัวจากกะโหลก ลงมาแนวกระดูก แล้วไปตามรยางค์แขนขา แต่ขณะเดียวกัน ก็มีอวัยวะหลายอย่างที่ทำงานเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องพึ่งการสั่งการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อด้วยเมื่อถูกกระตุ้น การที่แขนขาสามารถจะขยับได้นั้น ก็มาจากการที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ หดตัวหรือคลายตัว ซึ่งถูกกระตุ้นได้หลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร้อน ไฟฟ้า หรือการกดสัมผัส
ซึ่งที่ไปคอมเมนต์มานี้ เป็นการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในทางชีววิทยาครับ ให้รู้ว่ากบมันตายแล้ว (ไม่ใช่ว่าเค้าเอากบเป็นๆ ยังมีชีวิตอยู่มาทำอาหาร) แต่ไม่ได้บอกว่า มันเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำครับ (เป็นผม ผมไม่กล้ากินแน่ๆ 555)
ทั้งนี้ ศ.ดร.เจษฎาให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เชื่อหรือไม่ว่า “กบที่ตายแล้ว” ถึงจะไม่มีสมองแล้ว ก็ยังว่ายน้ำได้ ทำเสียงร้องได้ และสู้คืนได้ และหลักการของสิ่งที่เกิดขึ้นกับกบตายนี้ ก็คล้ายกับการที่เราถูกใครแอบแกล้งเอาแปรงมาจั๊กจี้ที่เท้าของเรา แล้วเท้าเราขยับหนีเองโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่า ถึงกบมันไม่มีหัวเหลืออยู่ มันก็เกิดการตอบสนองเช่นนั้นได้
ลองดูคลิปวิดีโอนี้ได้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=EmDxb5QU4U4 ซึ่งมาจากการทดลองในช่วงปี 2002-2003 ให้เห็นว่า กบที่โดนตัดหัว ถูกเอาสมองออกไปแล้ว ยังคงเตะขาถีบได้ ตอบสนองต่อการสัมผัสได้ หรือแม้แต่กระโดดไปมาและว่ายน้ำ ก็ทำได้ (ในคลิปมีการเอาก้อนสำลีไปเช็ดเลือดจากตัวกบ แต่ไม่ใช่ว่าได้ใส่น้ำยาวิเศษลงไปให้กบขยับ)
ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ดังกล่าวของกบนี้ ไม่ได้จำเป็นว่าจะเกิดขึ้นเมื่อมันถูกตัดหัวทิ้งไปแล้วเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้เมื่อถูกผ่าเอาสมองออกจากหัว (โดยให้หัวยังคงอยู่) จากการทดลองของนักประสาทวิทยา ชื่อ David Ferrier ในช่วงศตวรรษที่ 19 พบว่า กบที่ยังมีหัวอยู่แต่ถูกผ่าเอาสมองออกไปแล้วนั้น (ซึ่งก็ถือว่าตายแล้ว) ยังมีพฤติกรรมคล้ายกับกบปรกติเป็นอย่างมาก
กล่าวคือ ถ้าจับมันหงายท้อง มันจะพลิกตัวกลับมาเองได้ หรือถ้าไปจิ้มที่เท้ามือ มันก็จะกระโดดหนี แล้วถ้าเอามันไปโยนลงในอ่างน้ำ มันก็สามารถจะว่ายน้ำไปได้จนถึงขอบอ่าง แถมปีนออกมาด้วย และที่สุดของที่สุดคือ ถ้าไปจิ้มหลังมัน มันก็ยังสามารถส่งเสียงร้องได้ด้วย (กบยังมีหัว มีปาก มีอวัยวะที่สร้างเสียงได้อยู่)
ปัจจัยที่ทำให้มันดูเหมือนกับเป็น “กบซอมบี้” ก็คือปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (reflex reaction) ซึ่งทำให้เกิดการยิงกระแสไฟฟ้าประสาทที่จำเป็น ส่งไปยังกล้ามเนื้อให้หดตัวหรือคลายตัว ปฏิกิริยาดังกล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องผ่านสมอง คล้ายกับกรณีของการที่เท้าเราถูกจั๊กจี้แล้วขยับเองได้ โดยที่เราไม่ต้องคิดในสมองว่า ฉันโดนจั๊กจี้เท้า ฉันต้องขยับหนีนะ ฯลฯ
ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยอยู่นอกการควบคุมของจิตใจ (involuntary) ที่เกิดขึ้นอย่างแทบฉับพลันทันที (instantaneous) เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น (stimulus) ในคนเรานั้น รีเฟล็กซ์จะเกิดผ่านระบบการนำกระแสประสาท ที่เรียกว่า วงรีเฟล็กซ์ (reflex arc) และมักจะมีเวลาตอบโต้ (reaction time หรือ latency) หรือช่วงเวลาที่ร่างกายเริ่มรับสัญญาณความรู้สึกจากสิ่งกระตุ้น จนร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นนั้น อยู่ในช่วงเวลา 150 ถึง 300 มิลลิวินาที
แต่ๆ ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ของร่างกายคนเรานั้นจะหยุดการทำงานเมื่อเราไม่มีสมองแล้ว (หรือสมองตายแล้ว) มนุษย์เราไม่สามารถมีชีวิตรอดได้โดยไม่มีสมอง เพราะสมองของเรานั้นทำงานใกล้ชิดร่วมกันกับระบบประสาทส่วนกลางที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ แม้แต่การหายใจก็ยังควบคุมระดับการทำงานด้วยสมอง
ดังนั้น ในกรณีของกบ มันจึงมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันแสดงพฤติกรรมบางอย่างได้แม้จะไม่มีสมองแล้ว David Ferrier ได้บันทึกไว้ว่า ถ้ามีการให้พลังงานกับกบที่ถูกผ่าเอาสมองออกไปแล้ว กบตัวนั้นก็ยังสามารถที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายในได้ต่อไปอีกนาน พลังงานและตัวกระตุ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กบซึ่งไม่มีสมองแล้วนั้น จะต้องได้รับเพื่อให้มันแสดงพฤติกรรมคล้ายกบที่ยังมีชีวิตได้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะรู้สึกเบื่อที่จะค่อยจิ้มกระตุ้นมันเล่น
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษาต่างๆ ของเรื่องนี้ คือ พบว่า กบที่ไม่มีสมองแล้วนั้น กลับทำพฤติกรรมต่างๆ ตามที่ถูกกระตุ้นได้อย่างคงที่ มากเสียยิ่งกว่ากบที่ยังมีสมองเสียอีก แสดงว่าสมองกลับเป็นตัวกด ตัวกีดขวาง การแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นเอาไว้
และนอกจากกบแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่สามารถแสดงพฤติกรรมได้ แม้ว่ามันดูเหมือนกับว่าตายไปแล้ว เช่น หัวของงูที่ถูกตัดจากตัว กลับยังสามารถกัดคนได้, หนวดของหมึก ที่แม้จะถูกตัดออกมา (เช่นเอามาทำอาหาร) ก็ยังสามารถจะดูดจับมือเราได้, แมลงหวี่ตัวเมียที่ถูกตัดหัว กลับยังเดินยังบินและผสมพันธุ์ได้ เป็นต้น