กลับมาเป็นกระแสครึกโครมอีกครั้ง…ทำให้คำว่า “มาเฟียข้ามชาติ” กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกหน…โดยที่ลึก ๆ แล้วคนร้ายกลุ่มนี้ “แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย” มาตลอด…และ “มีหลายกลุ่มหลายชาติ” ด้วย!!
ทั้งนี้ กระแสครึกโครม-ประเด็นร้อนล่าสุดเกิดขึ้นจากเหตุฆาตกรรมโหดชายชาวต่างชาติในไทย และมีกระแสว่าผู้ก่อเหตุ ผู้ร่วมก่อเหตุ อาจมีความเกี่ยวโยงกับ “แก๊งมาเฟียข้ามชาติ-แก๊งอาชญากรข้ามชาติ” ซึ่งในภาพรวมอาชญากร-มาเฟียข้ามชาตินี่ก็เป็นอีกปัญหาที่สร้างผลกระทบให้กับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยที่ผ่านมาในทางวิชาการก็ได้ “ศึกษา-วิเคราะห์” ขบวนการเหล่านี้
ทั้ง “พัฒนาการ” ของ “มาเฟียข้ามชาติ” และ “รูปแบบ-ลักษณะของการก่อเหตุ”
กับการศึกษา “อาชญากรข้ามชาติ” หรือ“มาเฟียข้ามชาติ” นั้น หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ คือผลงานศึกษาโดย ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาไว้ภายใต้หัวข้อ “อาชญากรรมข้ามชาติ : ภัยคุกคามไทยและอาเซียน” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “ผลกระทบจากอาชญากรรมข้ามชาติ” ซึ่งเป็น “ปัญหาความมั่นคงนอกรูปแบบ”ที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ ส่งผลกระทบทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ความสงบสุขของสังคม โดยพื้นที่ในการศึกษานั้นมุ่งเน้นทั้งไทย และอาเซียน
ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ ได้สะท้อนไว้ว่า… ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติได้เริ่มขยายตัวมานับตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็น โดยเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ กลุ่มเหล่านี้ก็ได้มีการขยายตัวออกสู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ซึ่งสำหรับ “ภูมิภาคอาเซียน” ที่มี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วยนั้น ก็ได้กลายเป็น “เส้นทางใหญ่” ที่กลุ่มอาชญากรข้ามชาติได้มีการขยายธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ มายังพื้นที่ ส่งผลทำให้อาเซียน และประเทศไทย ต้องเผชิญปัญหาจาก “มาเฟียข้ามชาติ” หลากหลายรูปแบบ จากการที่กลุ่มเหล่านี้เข้ามาก่อเหตุหลากหลายประเภท …นี่เป็นภาพกว้างของปัญหาดังกล่าวนี้
“มาเฟียข้ามชาติ” ที่ “อาละวาดหนัก”
ในแถบอาเซียน รวมถึงในประเทศไทย
ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวชี้ “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้ “มาเฟียข้ามชาติขยายตัว” ไว้ว่า…การเติบโตของอาชญากรรมข้ามชาติเป็นผลจากยุคโลกาภิวัตน์ที่เอื้อต่อกิจกรรมข้ามพรมแดน โดยกลุ่มเหล่านี้ก็ มักจะนิยมเลือกขยายเครือข่ายเข้าสู่ประเทศที่มีระบบกฎหมายย่อหย่อน หรือไม่ค่อยเข้มงวดมากนัก เช่นประเทศกำลังพัฒนา เพราะง่ายต่อการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายและลงมือก่ออาชญากรรม ซึ่งยิ่งประเทศใดมีอัตราการขยายตัวของมาเฟียข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น ประเทศนั้นก็จะยิ่งได้รับ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงอาจจะ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ด้วย ซึ่ง…
มีตัวอย่างให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ…
มาเฟียข้ามชาติ หรือ“อาชญากรรมข้ามชาติ” กับ “ความหมาย-รูปแบบ” นั้น ในงานศึกษาวิจัยได้สะท้อน“นิยาม” ที่ทาง องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จำแนกไว้ โดยระบุว่า… ประเภทของอาชญากรรมข้ามชาติ หลัก ๆ มี 18 ประเภท ได้แก่… ฟอกเงิน, ก่อการร้าย, โจรกรรมงานศิลปะ-ผลงานทางวัฒนธรรม, ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, ค้าอาวุธเถื่อน, โจรสลัดในทะเล, โจรสลัดบนบก, หลอกลวงในธุรกิจประกัน, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์, อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม, ค้ามนุษย์, ค้าอวัยวะมนุษย์, ค้ายาเสพติด, หลอกเรื่องล้มละลาย, แทรกซึมองค์กรธุรกิจ, คอร์รัปชั่น, การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และความผิดอื่น ๆ
ทั้งนี้ ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้เคยมีการให้ “คำจำกัดความ” เกี่ยวกับ“มาเฟียข้ามชาติในไทย” ไว้เช่นกัน โดยระบุว่า… ประกอบด้วยอาชญากรรม 11 ประเภท ได้แก่… ก่อการร้ายข้ามชาติ (International terrorism), ปลอมแปลงหลักฐานตัวบุคคล (Identity fraud), ลักลอบค้าอาวุธ (Arms smuggling), ลักลอบขนแรงงานต่างด้าว, ฟอกเงิน (Money laundering), ค้ายาเสพติด, ค้ามนุษย์หรือประพฤติผิดทางเพศต่อเด็ก, อาชญากรรมเศรษฐกิจและคอมพิวเตอร์, อาชญากรรมร้ายแรงในต่างประเทศ, อาชญากรรมร้ายแรงในประเทศไทย และอาชญากรรมอื่น ๆ
เหล่านี้คือประเภทอาชญากรรมที่ “บ่งชี้”…
บ่งชี้…“มีแก๊งอาชญากรข้ามชาติในไทย”
ทาง ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ ได้ฉายภาพให้เข้าใจ “พัฒนาการ” ของกลุ่มเหล่านี้ไว้ว่า…ภาพกว้าง ๆ “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” เหล่านี้มักดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายใน 2 ลักษณะใหญ่ คือ ขายสินค้า-บริการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาชญากรรมลักษณะนี้มักจะมีต้นทุนธุรกิจต่ำกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์หรือกติกา ส่วนลักษณะที่ 2 คือ ก่ออาชญากรรมที่ไม่เข้าข่ายจัดหาอุปทานสินค้าและบริการ ที่มักจะ เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจซึ่งยากต่อการสืบสวนปราบปราม เพราะเจ้าหน้าที่ในหลายประเทศยังขาดความชำนาญในการสกัดกั้น อีกทั้งกฎหมายหลายประเทศก็ยังตามไม่ทัน จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ “ธุรกิจมาเฟียข้ามชาติเติบโตไม่หยุดยั้ง!!” …ซึ่งเหล่านี้เป็น “ภาพกว้าง” โดยสังเขป…
ฉายภาพ “พัฒนาการมาเฟียข้ามชาติ”
โดยที่ “ในประเทศไทยก็มีพัฒนาการ”
มีรายละเอียด…ตอนหน้ามาดูกันต่อ